สำหรับในส่วนกลาง หัวหน้าส่วนราชการที่เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ศปก.ตร. ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกรุงเทพมหานคร, เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, อธิบดีกรมการปกครอง, อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้องในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ปส 1), ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ปส 2), ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ที่รับผิดชอบ, ผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล และ ผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รวมจำนวนประมาณ 30 คน และเชื่อมต่อระบบไปยังกองบังคับการตำรวจนครบาล 1-9 ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1-9, รองผู้บังคับการที่รับผิดชอบ, ผู้อำนวยการสำนักงานเขต (เฉพาะเขตที่มีโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเข้าร่วมโครงการ), หัวหน้าสถานีตำรวจ, ตำรวจประสานโรงเรียน, ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้แทนครูโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวนประมาณ 650 คน
ในส่วนภูมิภาค ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้, รองผู้บัญชาการที่รับผิดชอบ, ผู้บังคับการตำรวจภูธรทุกจังหวัด, รอง ผู้บังคับการที่รับผิดชอบ, ผู้ว่าราชการจังหวัด, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด, นายอำเภอ, นายกเทศมนตรี, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ศึกษาธิการภาค, ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา, ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา, หัวหน้าสถานีตำรวจ, ตำรวจประสานโรงเรียน, ผู้อำนวยการโรงเรียน, ผู้แทนครูโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ และผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ประมาณ 6,000 คน
การประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องได้รับการป้องกันและแก้ไข โดยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และจัดการปัญหาอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องให้เบ็ดเสร็จ และในแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดปี 2558 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การป้องกันกลุ่มผู้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เน้นการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่เด็กปฐมวัย เด็ก เยาวชน ทั้งในและนอกสถานศึกษา เพื่อลดจำนวนผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดรายใหม่
ในมิติด้านการป้องกันยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้บูรณาการร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้แก่เด็กและเยาวชน โดยในระดับประถมศึกษา ได้จัดครูตำรวจแดร์เข้าไปสอนให้ความรู้เรื่องยาเสพติด และการรู้จักปฏิเสธยาเสพติดให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความ พึงพอใจและชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม จากการประสานงานระหว่างหน่วยงาน พบว่าเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาบางคน ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด บางโรงเรียนแก้ปัญหาได้เอง บางโรงเรียนก็เกินขีดความสามารถของครูที่รับผิดชอบ ซึ่งการแก้ไขปัญหายาเสพติดจำเป็นต้องดำเนินการให้ครอบคลุม ทั้งในมิติการป้องกัน ปราบปราม และการบำบัดรักษาควบคู่กันไป บางโรงเรียนครูที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังก็ถูกคุกคามจากกลุ่มผู้ค้าหรือผู้มีอิทธิพล ดังนั้น เพื่อที่จะรองรับและแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินกิจกรรมโครงการตำรวจประสานโรงเรียน(1 ตำรวจ 1 โรงเรียน) โดยจะเริ่มดำเนินการในภาคการศึกษาที่ 1/2558 (พฤษภาคม-สิงหาคม 2558) ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาล, ตำรวจภูธรภาค 1-9 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 1,472 โรงเรียน จาก 1,467 สถานีตำรวจทั่วประเทศ (สถานีตำรวจละไม่น้อยกว่า 1 โรงเรียน)
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดการประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการตำรวจประสานโรงเรียนพร้อมกันทั่วประเทศ ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) ขึ้นในวันนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบแนวทางการดำเนินโครงการ ขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป