ฮอนด้านำทีมเยาวชนไทย - ญี่ปุ่นตะลุยอาณาจักรฮอนด้า ทวินริง โมเตกิ

จันทร์ ๑๘ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๔:๑๖
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น นำเยาวชนผู้ชนะเลิศ 6 คน จากโครงการประกวดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ "ฮอนด้า ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ 2014" ภายใต้แนวคิด "คิด(ส์) กระหึ่มโลก" เข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนไทย-ญี่ปุ่น "ฮอนด้า ซูเปอร์ ไอเดีย คิดส์" ร่วมกับเยาวชนญี่ปุ่นผู้ชนะ 6 คนจากโครงการฮอนด้า คิดส์ ไอเดีย คอนเทสต์ ท่องอาณาจักรฮอนด้า ทวินริง โมเตกิ ณ จังหวัดโตชิกิ ประเทศญี่ปุ่น

เยาวชนไทยและญี่ปุ่น ได้ร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์แรงบันดาลใจภายในอาณาจักรฮอนด้า ทวินริง โมเตกิ อาทิ ชมการจัดแสดงพัฒนาการของอาซิโม หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ที่สุดในโลกของฮอนด้า และการสาธิต U3-X อุปกรณ์ขับเคลื่อนส่วนบุคคลที่ใช้เทคโนโลยีควบคุมสมดุลที่พัฒนาต่อยอดจากงานวิจัยในโครงการพัฒนาหุ่นยนต์อาซิโม ทั้งยังได้ท่องโลกแห่งเทคโนโลยีประดิษฐกรรมยานยนต์ของฮอนด้าในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่เก็บรวบรวมยนตรกรรมของฮอนด้าทุกชิ้นกว่า 60 ปีใน“ฮอนด้า คอลเลคชั่น ฮอลล์” และสนุกกับกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการสำรวจเส้นทางเดินธรรมชาติใน Hello Woods เพื่อปลูกจิตสำนึกของเยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของป่าและเข้าใจในการดำรงชีวิตอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์ สิ่งมีชีวิตและธรรมชาติในโลกแห่งเทคโนโลยีล้ำหน้า

มร. ชูอิจิโระ คุโบะ ผู้จัดการทั่วไป สำนักกิจกรรมเพื่อมนุษยธรรม บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า "โครงการฮอนด้า ไอเดีย คอนเทสต์ เป็นเวทีที่ฮอนด้าเปิดกว้างให้เด็กๆ ซึ่งมีพลังจินตนาการที่ไร้ขอบเขตได้แสดงออกและถ่ายทอดความคิดของพวกเขา จากการนำเสนอความคิดสิ่งประดิษฐ์ของเด็ก ๆ เหล่านี้ ฮอนด้าไม่ได้ให้ความสำคัญว่าความคิดนั้นจะเป็นจริงได้หรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือ การที่เยาวชนได้เรียนรู้ มีกระบวนการคิด การแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมในอนาคต สำหรับผลงานปีนี้ ทั้งเยาวชนไทยและญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกัน คือ การคิดแก้ปัญหาตามสถานการณ์ที่แต่ละคนประสบด้วยตัวเอง ซึ่งล้วนแต่คำนึงถึงความสุขของผู้คนรอบข้างและสังคม สำหรับผลงานของเด็กไทยนั้นจะให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยคุกคามในชีวิตประจำวัน และสถานการณ์ปัจจุบันที่น่ากลัว เช่น ผลงานชิปเปลี่ยนใจโจร กุญแจเตือนเมื่อเด็กอยู่ในรถ ส่วนผลงานเด็กญี่ปุ่นจะเป็นแนวแฟนตาซี ที่เกี่ยวโยงกับความรู้สึกมากกว่า เช่น ผลไม้แห่งความสุข ลำแสงทะลุปรุโปร่ง หุ่นยนต์เรนเจอร์บอกความรู้สึก นอกจากโครงการนี้ ฮอนด้า มอเตอร์ยังมีกิจกรรม CSR สำหรับเยาวชนอีกหลายโครงการ เช่น กิจกรรม hand craft ที่สอนเรื่องการพัฒนาทักษะในการประดิษฐ์ของจากมือสำหรับระดับประถม การประกวด idea ใหม่ๆที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับระดับมัธยมต้น และการประกวดประดิษฐ์หุ่นยนต์สำหรับระดับมัธยมปลาย"

ฮอนด้า ทวินริง โมเตกิ ณ เมืองโมเตกิ ในมณฑลโตชิกิ บนเทือกเขาฮักโกะ มีพื้นที่รวมจำนวน 640 เฮกเตอร์ โดยพื้นที่ร้อยละ 35 เป็นสนามแข่งรถ 2 สนามได้แก่ Super Speedway สนามแข่งวงรีสไตล์อเมริกัน และ Road Course แบบยุโรป และยังเป็นสนามแข่งรถยนต์ระดับโลกอย่าง MotoGP ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมบนเทือกเขาและป่าโปร่งแนวคิดหลักในการสร้างอาณาจักร ฮอนด้า ทวินริง โมเตกิ คือ การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ดังนั้นการออกแบบจึงมุ่งเน้นเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้คน และสัตว์ป่าที่อาศัยให้น้อยที่สุด โดยเน้นประโยชน์ 2 ด้าน คือ เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีของยนตรกรรม ควบคู่กับการอนุรักษ์และการจัดการสิ่งแวดล้อม

นอกเหนือจากโซนสนามแข่ง ฮอนด้า ทวินริง ยังประกอบด้วยโซน ฮอนด้า คอลเลคชั่น ฮอลล์ (Honda Collection Hall) สร้างขึ้นเพื่อฉลองวาระครบ 50 ปีของการก่อตั้งบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1998 เพื่อแสดงความขอบคุณลูกค้า ผู้จำหน่าย คู่ค้า และผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ร่วมสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของฮอนด้ามาโดยตลอด ภายในอาคาร 3ชั้นนี้ มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ฮอนด้ารวมกว่า 300 คัน โดยได้บำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ใช้งานได้จริงทุกคัน ชั้นที่ 1จัดแสดงนวัตกรรมเพื่อการเคลื่อนไหว เช่น ASIMO และนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่นรถไฮบริด รถพลังงานไฟฟ้า รถ Fuel Cell (FCX) ชั้น 2 จัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ ตั้งแต่รถจักรยานติดมอเตอร์ไฟฟ้า รถจักรยานติดเครื่องยนต์ รถจักรยานยนต์รุ่นต่าง ๆ รถบรรทุกเล็ก T360 รถสปอร์ต รถยนต์นั่ง N360 และชั้น 3 จัดแสดงรถแข่งทั้งมอเตอร์ไซค์และรถยนต์

มร.ริวอิจิโร ซาคิโนะ หัวหน้าโครงการพัฒนาเฮลโลวูดส์ ให้ข้อมูลว่า "โซน ป่าเฮลโล วูดส์ ซึ่งเป็นป่าต้นสนและโอ๊คในอาณาจักรฮอนด้า ที่ได้รับการฟื้นฟู อนุรักษ์จากเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ป่าของฮอนด้า เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว โดยมุ่งหวังให้ป่าเฮลโล วูดส์ เป็นผืนป่าเพื่อการอยู่อาศัยอย่างพึ่งพาของคนในชุมชน สัตว์ป่าและพรรณพืชอย่างกลมกลืน สมัยก่อนชาวบ้านจะตัดไม้ไปหุงหาอาหาร แต่เมื่อมีไฟฟ้าใช้แล้ว ไม่มีการตัดไม้ไปใช้เลย จึงทำให้เป็นป่ารกทึบ ถ้าเราถางป่าเคลียร์พื้นที่หมด สัตว์ป่าก็จะไม่มีที่อยู่ เราต้องสร้างที่อยู่ใหม่ให้สัตว์เหล่านี้ด้วย เช่น การนำกิ่งไม้หรือท่อนไม้มาเรียงเป็นแนวเพื่อให้สัตว์เล็กได้อยู่อาศัย รวมทั้งมีการสร้างบ้านนกโดยทีมวิศวกรฮอนด้า ร่วมออกแบบบ้านนกให้เหมาะกับขนาดและประเภทของนกแต่ละชนิด มีการสร้างห้องสุขาโดยใช้วิธีธรรมชาติในการย่อยสลาย คือการใช้จุลินทรีย์ในดิน น้ำที่ออกมาจะนำมาใช้รีไซเคิลได้อีก"

น้องไตเติ้ล ธราดล เทียนประสิทธิ์ ผู้ชนะเลิศตัวแทนจากประเทศไทย เล่าถึงประสบการณ์ในญี่ปุ่นครั้งนี้ว่า "การมาญี่ปุ่นครั้งนี้ไม่เหมือนกับทุกครั้ง เพราะครั้งนี้ได้เจอกับเพื่อนใหม่ชาวญี่ปุ่น ที่ได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน ได้มาเรียนรู้เรื่องธรรมชาติที่ป่าHello Woods และการมาญี่ปุ่นครั้งนี้ก็ช่วยให้ผมมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นอีกด้วยครับ"

น้องอิโต ไทกะ เล่าถึงความประทับใจว่า "ดีใจมากที่ได้รู้จักกับเพื่อน ๆ จากประเทศไทย ทุกคนเก่งมาก ประทับใจผลงานจากประเทศไทยทุกชิ้นเลยครับ ดีใจมากที่ได้เจอกับอาซิโม ชอบความสามารถของอาซิโม มีความสุขที่ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ เด็กไทย เพื่อน ๆ สอนให้ผมพูดภาษาไทยด้วย ขอบคุณฮอนด้าที่จัดกิจกรรมนี้ครับ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ