สนุกเรียนรู้ “ดนตรี-การแสดงพื้นบ้าน” ที่ รร.ซับใหญ่วิทยาคม ต่อยอดผลิต “เครื่องดนตรี-เครื่องประดับ” สร้างอาชีพที่ยั่งยืน

พุธ ๒๐ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๒:๑๘
ชุมชนบ้านซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดลพบุรี และนครราชสีมา จึงทำให้มีการเดินทางไปมาหาสู่และค้าขายของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรม ทำให้ ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านของชุมชนแห่งนี้ มีการผสมผสานระหว่างกลิ่นอายของ “หมอลำ” ภาคอีสาน ดนตรี“ลูกทุ่ง” และ “ลิเก” แบบภาคกลางไว้ด้วยกันจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น

คณะครู “โรงเรียนซับใหญ่วิทยาคม” นำโดย ครูสมชิด เทียนชัย ได้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่หลากหลาย บวกกับปัญหาความยากจน และขาดโอกาสในการเรียนต่อของเด็กๆ จึงได้นำการแสดงพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์ และนาฏศิลป์อันงดงามมาบูรณาการเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้รากเหง้าวัฒนธรรม และยังช่วยให้เด็กๆ กล้าคิด กล้าแสดงออก มีสมาธิ รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เกิดเป็นทักษะชีวิตที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ ผ่าน “วงดนตรีลูกทุ่งซับใหญ่วิทยาคม” ที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในสังคมต่อ “การเต้นกินรำกิน” ให้เป็นที่ยอมรับว่านี่คือ “ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมสมัยที่มีคุณค่าและเป็นอาชีพที่มั่นคง

นอกจากนี้ทางคณะครูยังได้บูรณาการความรู้จากดนตรีและนาฏศิลป์ มาใช้ส่งเสริมเติมทักษะการเรียนรู้นอกห้องเรียน “ทักษะชีวิต-ทักษะอาชีพ” ให้กับเด็กๆ โดยจัดทำ “โครงการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านและเครื่องประดับนาฏศิลป์อีสาน” ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชิวิตและทักษะอาชีพ” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ดร.จิมมี่ ทองพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนซับใหญ่วิทยาคมเปิดเผยว่า พื้นที่ชุมชนบ้านซับใหญ่เป็นแนวกันชนระหว่างลพบุรีและโคราช เป็นเขตแดนที่ 2 วัฒนธรรมคือ หมอลำและลิเก แต่เดิมนั้นในชุมชนยังไม่มีวงดนตรีเป็นเรื่องเป็นราวมีแค่คณะรำวงของผู้สูงอายุ จนอาจารย์สมชิดเข้ามาดูแลสอนให้นักเรียนเล่นดนตรี ร้องเพลง ฟ้อนรำ สร้างเป็นชมรมจนเกิดเป็นวงดนตรีลูกทุ่งซับใหญ่วิทยาคมขึ้น

“อาจารย์สมชิดมาจากครอบครัวศิลปินท้องถิ่นอีสาน จึงได้นำความรู้มาต่อยอดพัฒนาให้เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยใช้ดนตรีมาเป็นแนวทางในการศึกษาทั้งเรื่องของ ธรรมชาติ งานช่าง งานประดิษฐ์ ศิลปะ ดนตรี การฟ้อนรำ ทำให้เราได้พบว่า เด็กที่นี่มีแววด้านดนตรีไม่ต่ำกว่าครึ่ง” อาจารย์จิมมี่ระบุ

นอกจากการเรียนดนตรีพื้นบ้านแล้ว คณะครูโรงเรียนซับใหญ่ฯ ยังได้ต่อยอดการเรียนรู้ให้นักเรียนเข้าถึงเครื่องดนตรี โดยมีการสอนการผลิตเครื่องดนตรีต่างๆ เช่น ผืน (ลูก)ระนาดเอก, ระนาดทุ้ม, โปงลาง, ซออู้, ซอด้วง, กรับ ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้จากการนำเศษวัสดุในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดด้วย

นายสมชิด เทียนชัย รอง ผอ. ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ถ้าเราหาเครื่องดนตรีมาให้เด็กๆ โดยป้อนให้เขาอย่างเดียว เด็กก็จะไม่มีจิตสำนึกรักและหวงแหนวัฒนธรรม ไม่ได้เรียนรู้ และไม่ได้สร้างสรรค์ จึงให้นักเรียนออกไปหาเศษวัสดุมาใช้ในชุมชน ไปเรียนรู้ว่าต้นไม้อะไรใช้ทำอะไรได้บ้างเพราะแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน หากนำมาทำเครื่องดนตรีเสียงที่ได้ก็จะแตกต่างกัน เด็กจะได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆ จากธรรมชาติ แทนที่จะแค่เอาไม้ไปเผาถ่าน และพวกเขายังได้ฝึกการใช้เครื่องมือช่างอีกด้วย

“ในเรื่องของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เด็กๆ จะต้องเรียนรู้และฝึกการทำ ตั้งแต่เลือกผ้าออกแบบ ตัดเย็บ ปักเลื่อม ทำเครื่องชฎา โดยมีการนำผ้าพื้นเมืองจากที่ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมจากผ้าอีกด้วย เช่น ผ้าทอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ผ้าแพรวา จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ้าบ้านเชียงและบ้านนาข่า จังหวัดอุดรธานี ที่แม้จะไม่มีราคาค่างวดมากนัก แต่เขาจะได้ฝึกทักษะการออกแบบ การเย็บปักถักร้อยด้วย ทั้งหมดจะเป็นวิชาที่ติดตัวเขาไปได้จนโต” อาจารย์สมชิดกล่าว

“ปอ” น.ส.วิภาวัตน์ จันทร์จีน ศิษย์เก่าอดีตหัวหน้าวงดนตรีลูกทุ่งโรงเรียนซับใหญ่ฯ เล่าว่า เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกที่เรียนนาฏศิลป์และทำเครื่องดนตรีไทยเอง ครั้งแรกครอบครัวก็ไม่เข้าใจว่า ส่งเรามาเรียนหนังสือแล้วทำไมถึงต้องมาเต้นกินรำกินด้วย

“ตอนนั้นเรียนอยู่ชั้น ม.4 ที่ อบต.ซับใหญ่ จัดงานและเชิญวงของเราไปเล่น ก็เลยชวนพ่อแม่ให้ไปดู พอท่านเห็นคนในหมู่บ้านชื่นชมเรา พ่อและแม่ก็เปลี่ยนความคิดมาตั้งแต่นั้น และอีกอย่างก็คงเห็นว่า ผลการเรียนเราก็ไม่ตก ที่สำคัญดนตรีทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในครอบครัวและชุมชน เมื่อก่อนชุมชนไม่ค่อยมีดนตรีบรรเลง ไม่มีการฟ้อนหน้าศพ แต่ทุกวันนี้มีครบทุกงาน ชาวบ้านที่นี่ได้ซึมซับวัฒนธรรมมากขึ้น คนเฒ่าคนแก่ก็มีความสุข บางครั้งก็เข้ามาเล่นกับเราด้วย เราเองก็ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาจากชุมชน ทุกวันนี้ถ้ามีเวลาก็จะกลับมาช่วยครูสอนน้องๆ เป็นประจำ” น้องปอกล่าว

“จุ๊บ” น.ส.นริศรา อินปัน นักเรียนชั้น ม.5 กล่าวว่า “ทางกลุ่มพวกหนูเป็นฝ่ายผลิต ครูจะสอนว่าไม้แต่ละอย่างมีคุณสมบัติอย่างไร มีเสียงต่างกันอย่างไร ต้องเริ่มตั้งแต่หากิ่งไม้จากธรรมชาติ ไปตัดไม้จากท้องนา สอนเลือกไม้ไผ่บงว่า ลำไหนเสียงดีเหมาะกับทำระนาด หรือเครื่องมือชนิดไหน เราเริ่มฝึกทำจากไม้ตีระนาด ต้องหัดกลึงไม้ประดู่มาทำเป็นหัว ด้ามเป็นไม้ไผ่ ต่อมาก็หัดทำ ระนาดเอก ระนาดทุ้มทุ้ม โปงลาง ซออู้ ซอด้วง และการทำลูกระนาดที่ต้องฝึกฟังเสียงเทียบเสียงทีละอัน”

“หยี” น.ส.ภัทรสุดา อ้มหอม นักเรียนชั้น ม.4 กล่าวว่า “ความฝันของหนูอยากเป็นครูสอนนาฎศิลป์ เพราะชอบฟ้อนรำ เห็นแล้วประทับใจ ได้ฝึกทำเครื่องดนตรีชนิดแรกเป็นคือ โปงลาง จริงๆ แล้วนักเรียนทุกคนจะได้เรียนและเล่นทุกอย่าง การเล่นเป็นวงต้องใช้ความสามัคคีมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เรารู้จักการเล่น รู้จักตัวโน้ตมากขึ้น รู้จักจังหวะของดนตรี ไม่คิดว่าดนตรีพื้นบ้านเป็นเรื่องเชยเพราะเป็นวัฒนธรรมของเราที่ต้องช่วยกันรักษา”

“การบูรณาการการเรียนรู้ผ่านดนตรีนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้เด็กๆ มีความสุข เขายังมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นจนสุดท้าย พวกเขาได้รู้จักธรรมชาติในท้องถิ่น รู้จักหวงแหนรักษาและใช้ประโยชน์สิ่งที่มีอย่างคุ้มค่า รู้จักการประยุกต์ใช้สิ่งต่างๆ มาใช้ให้เหมาะสม เป็นการปลูกฝังความภาคภูมิใจ กล้าที่จะสวมใส่หรือสืบทอดภูมิปัญญาจากคนรุ่นก่อน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขามีราก รู้ที่มาที่ไปของตนเอง เป็นการฝึกให้เขาสามารถพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ยั่งยืน และยังสามารถสืบทอดไปยังคนรุ่นต่อๆ ไปได้อีกด้วย” อาจารย์สมชิด กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version