คณะครูของ “โรงเรียนอนุบาลวัดอ่างทอง” ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้พยายามหาวิธีการที่จะทำให้เด็กเกิดความเข้าใจและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกสุขลักษณะ จึงได้จัดทำ “โครงการอ่านเขียนได้ตามวัย ใส่ใจสุขภาวะ” ภายใต้ “โครงการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบของ “หนังสือสุขภาวะภายในโรงเรียน”
นายสมหมาย เก่งการ ผู้อำนวยการ รร.อนุบาลวัดอ่างทอง เล่าถึงที่มาของหนังสือสุขภาวะว่าเกิดขึ้นจากทางโรงเรียนได้นำโครงการที่เคยทำงานร่วมกับทาง สสค. ที่มีเป้าหมายในพัฒนาทักษะการพูดอ่านและเขียน มาขยายผลต่อเนื่องไปถึงเรื่องของสุขภาวะ โดย “หนังสือสุขภาวะ” เป็นสื่อการสอนที่ครูและนักเรียนร่วมกันพัฒนาและจัดทำขึ้นในระดับชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 รวมไปถึงหนังสือสำหรับเด็กพิเศษที่เรียนร่วมอยู่ในโรงเรียน
“ถึงแม้ว่าเรามีหนังสือด้านสุขภาพจากหลายสำนักพิมพ์ แต่เด็กๆ ไม่ได้สนใจอยากที่จะอ่าน แต่พอเป็นหนังสือที่เด็กและครูร่วมทำกันเอง สังเกตได้ว่าเด็กให้ความสนใจมากขึ้น แต่เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละวัย เราจึงจัดให้ครูและนักเรียนมีการวางแผนร่วมกัน โดยมีครูศิลปะมาช่วยดูแลเรื่องภาพประกอบและคุณครูภาษาไทยมาดูแลเนื้อหาร่วมกับนักเรียน เรามองว่า นี่คือหน้าที่ของครูที่จะต้องสร้างจิตสำนึกและเสริมสร้างทักษะเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้กับนักเรียน” ผอ.สมหมาย กล่าว
ทางโรงเรียนได้มีการแบ่งฐานการเรียนรู้ออกเป็น 6 ฐาน ประกอบไปด้วย ฐานที่ 1 หนังสือเล่มเล็กส่งเสริมเด็กให้เรียนรู้, ฐานที่ 2 คุณครูพี่สอนน้อง, ฐานที่ 3 ตัวเราต้องหมั่นดูแล, ฐานที่ 4 สะอาดแน่ด้วยเจลล้างมือ, ฐานที่ 5 ขยะคือเรื่องสำคัญ และฐานที่ 6 มุ่งมั่นออกกำลังกาย โดยเรื่องราวต่างๆ ที่เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ผ่านฐานทั้ง 6 ฐาน ก็จะถูกนำมาร่วมกันคิดและผลิตเป็นเรื่องราวต่างๆ เพื่อคัดเลือกและจัดทำเป็นรูปเล่มต่อไป
จากการดำเนินงาน “โครงการอ่านเขียนได้ตามวัย ใส่ใจสุขภาวะ” ได้ก่อให้เกิด “หนังสือเสริมทักษะชีวิตด้านสุขภาวะ” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “หนังสือสุขภาวะ” จำนวน 7 เล่ม ได้แก่ หมู่บ้านเข้มแข็งและสิงโตปากเหม็น, คลินิกชีวิต, ชัยชนะของอิ่ม, อาหารสมองและก้องจอมกิน, สุขบัญญัติน่ารู้, สุขภาพดีไปกับเจ้าแกละ และเด็กหญิงวันดี
ทุกวันนี้หากใครได้เดินเข้าไปในโรงเรียนอนุบาลวัดอ่างทอง ก็จะได้เห็นกิจกรรมน่ารักๆ ที่ครูและนักเรียนรุ่นพี่ชั้นประถม ช่วยกันอ่านและเล่านิทานในหนังสือที่พวกเขาช่วยกันแต่งขึ้นมาให้น้องๆ อนุบาลรับรู้ถึงพิษภัยของการบริโภคขนมที่ไม่มีประโยชน์ และเข้าใจถึงการรับประทานอาหารที่มีคุณค่า รวมไปถึงในโอกาสสำคัญต่างๆ เรื่องราวจากในนิทานยังได้ถูกนำมาแสดงเป็นละครเพื่อสร้างความสนุกสนานควบคู่ไปกับความรู้ในด้านสุขภาวะ นอกจากนี้ภายในพื้นที่ของโรงเรียนยังได้จัดให้มีมุมส่งเสริมการเรียนรู้ “ห้องสมุดเคลื่อนที่” ที่รุ่นพี่ชั้นประถมและมัธยมได้พัฒนาศาลาไทยหลังเล็กๆ ให้เป็นมุมรักการอ่านเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ที่อยู่นอกเหนือไปจากการเดินเข้าห้องสมุด
“โรงเรียนของเราจะมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งเล่นกีฬา ออกกำลังกาย โดยเฉพาะเรื่องรักการอ่าน เราจะมีห้องสมุดเคลื่อนที่ให้กับเด็กๆ ได้เข้าไปใช้บริการ โดยจะมีครูภาษาไทยเป็นผู้ถ่ายทอดและแนะนำให้เด็กได้อ่านในช่วงเวลาว่างก่อนเข้าเรียน พักกลางวัน หรือตอนเย็นก่อนกลับบ้าน ซึ่งผู้ปกครองก็ได้เข้ามานั่งพักอ่านหนังสือระหว่างรอรับบุตรหลานได้ด้วย” ผอ.สมหมายกล่าวเสริม
แม้ว่าในปัจจุบันหนังสือสุขภาวะจากความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ จะประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ โดยได้รับความสนใจอย่างสูงจนกลายหนังสืออ่านนอกเวลาที่เด็กนักเรียนทุกระดับชั้นให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทางคณะครูของโรงเรียนแห่งนี้ยังตระหนักถึงปัญหาในทำนองเดียวกันนี้ที่โรงเรียนอื่นๆ กำลังประสบอยู่ด้วย จึงได้มีแนวคิดที่จะขยายผลการดำเนินงาน ด้วยการกระจายหนังสือทั้ง 7 เล่มออกไปยังโรงเรียนเครือข่ายอีก 15 แห่ง และมีโครงการที่จะขยายไปสู่กลุ่มเครือข่ายรอง อย่างเช่นในกลุ่มผู้ปกครอง และชุมชนต่อไปอีกในอนาคต เพื่อสร้างประโยชน์จากการรักการอ่านให้เกิดขึ้นในวงกว้างอีกด้วย
นางวารีทิพย์ คงศรี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ รร.อนุบาลวัดอ่างทอง กล่าวถึงการขยายผลไปสู่กลุ่มโรงเรียนเครือข่ายว่า จะใช้วิธีระดมความคิดจากทุกโรงเรียนในการกำหนดเนื้อหา โดยจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน จากนั้นก็จะมีการเอาเค้าโครงเรื่องที่ได้มาปรับให้สอดคล้องกับความรู้ในเชิงวิชาการ โดยจะมีครูผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งด้านภาษาและศิลปะเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
“กระบวนการสร้างหนังสือแต่ละเล่มนั้นใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน จากนั้นจะเริ่มทดลองใช้ในโรงเรียนก่อน เพื่อปรับเนื้อหาให้ตอบสนองเข้ากับเด็กในวัยเป้าหมายหรือไม่ เมื่อสอดคล้องแล้วจึงนำเข้าโรงพิมพ์ และนำมาใช้ในโรงเรียนและแจกจ่ายไปยังโรงเรียนเครือข่ายต่อไป” คุณครูวารีทิพ์ระบุ
ด.ช.พีรวัชร สุวรรณไตรย์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า “สิ่งที่ได้จากโครงการนี้คือการเรียนรู้การทำงานเป็นทีมร่วมกับน้องๆ ชั้น ป.3 และ ป.4 โดยได้ทำหนังสือเล่มเล็กเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้เรียนรู้ในเรื่องการช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีการคัดแยกขยะ”
ด.ญ. ณัฐนรี โลมะบรรณ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่าว่า “โครงการนี้ทำให้ได้ฝึกการอ่าน โดยเฉพาะคำยากๆ ได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของไทย เรื่องราวประวัติศาสตร์ และวัดวาอารามต่างๆ และได้เรียนรู้เรื่องของการแยกขยะ ซึ่งเป็นความรู้ที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญยังทำให้มีโอกาสได้สอนน้องชั้น ป.4 อ่านหนังสืออีกด้วย”
“เมื่อเด็กๆ ได้สัมผัส ได้เรียนรู้ ได้หัดการเขียน พอเขาโตขึ้นก็จะสามารถนำเอาประโยคต่างๆ มาเรียบเรียงต่อกันเป็นเรื่องราวได้ ผลดีที่ได้รับจากโครงการนี้นอกจากจะส่งผลเรื่องเกี่ยวกับการฟัง พูด อ่าน เขียน การเสริมสร้างจินตนาการแก่เด็กๆ แล้ว เขายังสามารถนำเรื่องราวและความรู้ด้านสุขภาวะต่างๆ ที่ได้รับจากการค้นคว้า อ่าน หรือฟังจากนิทาน ไปวิเคราะห์ต่อยอดไปใช้ในการดำเนินชีวิตต่อไปได้ในอนาคต” ผอ.สมหมายกล่าวสรุป.