“หุ่นสายจิ๊กกิ้ว” ที่แปลงมาจากคำว่า “จิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋” ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ในสังคมผ่านมุมมองของเด็กๆ ที่อยากจะเห็นสังคมของพวกเขาดีขึ้น จากการแสดงชุดแรก “สายเกินไป” ที่มีเนื้อในการรณรงค์ลดละเลิกการดื่มเหล้าที่เกิดขึ้นในปี 2550 เป็นละครสะเทือนใจเกี่ยวกับแม่ลูกคู่หนึ่ง ซึ่งลูกผลักแม่ล้มลงเสียชีวิตเพราะตนเองดื่มเหล้าจนขาดสติ ต่อมาได้เพิ่มบทละครเป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งเรื่องของสภาวะโลกร้อน ปัญหาขยะ อบายมุข ฯลฯ และนำไป “เชิด-โชว์” ยังสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะ “ตลาดเก่าร้อยปีอัมพวา” ที่มักจะเห็นภาพของเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ออกไปแสดงฝีมือเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมอยู่เป็นประจำ ที่ผู้ชมนอกจากจะได้รับความสนุกสนานแล้วยังจะได้รับความรู้ในเรื่องของสุขภาวะไปพร้อมกัน
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ได้ให้การสนับสนุน “คณะหุ่นสายจิ๊กกิ้ว” ของ โรงเรียนวัดเขายี่สารฯ ในการจัดทำ “โครงการหุ่นสายสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้” ภายใต้ โครงการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน เพื่อขยายผลการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อการพัฒนาสุขภาวะของเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างยั่งยืน
นางปาริชาติ นวลิมป์ ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าถึงที่มาของละครหุ่นสายว่าเกิดขึ้นในปี 2550 หลังจากที่ได้เข้าอบรมการสอนทำหุ่นสายของ “คณะหุ่นสายเสมา” เพื่อนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้เกิดความสนุกสนานในการเรียน จนกระทั่งพัฒนาขึ้นเป็นคณะหุ่นสายจิ๊กกิ้วในปัจจุบัน โดยโครงการหุ่นสายสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก “นายเดชา บุญชู” ผู้อำนวยการโรงเรียนซึ่งเห็นความสำคัญของการพัฒนาความรู้นอกรูปแบบ โดยได้เพิ่มบทละครและการแสดงที่มีเนื้อหาเน้นในเรื่องของการเรียนรู้การใช้ชีวิตของเด็กๆ เช่นการกินให้ถูกสุขลักษณะ ความรู้เรื่องโรคอ้วน และวรรณคดีไทย โดยสอดแทรกความรู้ด้านสุขภาวะเข้าไปในระหว่างการแสดงชุดต่างๆ
“เด็กๆ มีหลายชั้นเรียนมีความสามารถไม่เหมือนกัน ก็แบ่งไปตามความถนัดบางคนชอบเขียนชอบคิดก็ช่วยแต่งเรื่องเขียนบท แต่ละเรื่องก็ไม่ยาวมากนักสิบกว่านาทีเพื่อไม่ให้คนดูเบื่อ คนไหนชอบร้องก็ให้ร้อง ให้พากย์ใช้เสียง คนไหนชอบงานฝีมือก็ให้ทำหุ่น โดยเรียนทำการขึ้นโครงจากวัสดุเหลือใช้ที่ไม่แพง แต่งานยากๆ ก็ให้เด็กโตทำหรือครูช่วย เพราะต้องทำหุ่นออกมาให้มีอารมณ์หน้าตาต่างๆในแต่ละเรื่อง จะต้องเพิ่มตัวละครหุ่นขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดก็มีเรื่องเกี่ยวกับผู้คนของอาเซียน” ครูปาริชาติกล่าว
“น้องเพลง” ด.ญ.นันท์นภัส แสงนาค นักเรียนชั้น ป.4 นักเชิดหุ่นตัวน้อยที่อายุเพียง 9 ปี เล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่าทำหน้าที่เป็นคนเชิดหุ่น แต่กว่าที่จะมาแสดงออกงานได้ ก็ต้องเรียนและฝึกเชิดหุ่นสายมานานกว่าหนึ่งเดือน โดยขั้นแรกจะต้องรู้จักส่วนประกอบของหุ่น จากนั้นก็จะให้ลองฝึกหุ่นทำท่าต่างๆ
“ที่มาเข้าเข้าคณะฯ ก็เพราะเห็นรุ่นพี่ๆ เขามาเล่นกันแล้วมีความสุข เลยอยากทำบ้าง การเชิดหุ่นสายต้องมีความสามัคคี มีระเบียบ มีวินัย ถ้าขาดใครคนใดคนหนึ่งก็จะทำงานยากขึ้น ทุกคนต้องช่วยเหลือเพื่อนในทีม เช่นซ่อมหุ่นที่ชำรุด บางคนซ้อมพูดแทนเพื่อน แต่ทั้งหมดจะใช้เวลาในวันเสาร์อาทิตย์หรือช่วงพักกลางวันมาฝึกซ้อมเพื่อไม่ให้เสียการเรียน” น้องเพลงกล่าว
“น้องแอนฟิล” ด.ญ.ณัฐชา ขจรวงศ์ นักเรียนชั้น ป.5 อายุ 11 ปี เล่าประสบการณ์การเป็นนักพากย์ในคณะว่าทำหน้าที่เป็นคนพากย์ ถึงแม้ว่าจะเป็นงานที่ค่อนข้างยากแต่ก็สนุก
“การเป็นคนพากย์ทำให้หนูอ่านหนังสือคล่องมากขึ้น เนื้อเรื่องที่นำมาเล่นนักเรียนจะช่วยกันแต่ง โดยเรื่องที่ชอบมากที่สุดก็คือละครเรื่องสุดสาคร และเรื่องสายเกินไป ที่เล่าเรื่องโทษของสุรา เพราะจะได้ไปบอกคนในครอบครัวให้เขาไม่กินเหล้า จะได้อยู่กับเราไปนานๆ” น้องแอนฟิลเล่า
นางจิตติมา บัวหอม คุณแม่ของ ด.ญ.ธัญญรัตน์ บัวหอม สมาชิกอีกคนหนึ่งของคณะฯ เล่าว่า การได้ออกไปแสดงตามที่ต่างๆ เด็กๆ จะสนุกมาก แต่ก็เป็นเรื่องยุ่งยากเพราะต้องเดินทาง ทำให้คณะครูต้องแบ่งเวลามาดูเด็ก นอกจากนี้ผู้ปกครองก็ยังเข้ามาส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมนี้ด้วย
“เวลาเด็กๆเดินทางไปแสดงที่ไหน หากผู้ปกครองคนไหนไม่ว่างก็สลับกันดูแล ตรงนี้มีผลดีที่ทำให้คนในชุมชนซึ่งส่วนมากก็มีลูกหลานมาเรียนที่เดียวกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องอื่นๆ ปัญหาต่างๆ ก็ลดลง ความสัมพันธ์ในชุมชนก็ดีด้วย หลายๆ เรื่องที่เด็กเล่นกลายเป็นว่ามีผลดีกับผู้ปกครองของเขาด้วยเช่นเรื่องดื่มเหล้า ที่ทำให้เกิดการสื่อสารเปลี่ยนความคิดของเด็กๆ และคนในครอบครัว” นางจิตติมาระบุ
นางไพรัช แก้วกาม หนึ่งในคณะครูที่ช่วยดูแลคณะหุ่นสายกล่าวว่า ในการแสดงหุ่นสายเด็กจะสนุกมากเพราะช่วยกันคิดช่วยกันแต่งเรื่อง มีทั้งชาวต่างชาติและคนไทยที่ให้ความสนใจ เพราะความน่ารักของเด็กๆ ส่วนมากก็จะไปแสดงในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ คณะครูก็จะไปด้วย มีผู้ปกครองมาช่วยดูแลบ้าง
“เด็กจะมีความสุขมากทุกครั้งที่ได้ออกไปแสดง พัฒนาการที่เห็นได้ชัดก็คือมีสมาธิมากขึ้น การเรียนก็ดีขึ้นด้วย มีความรักสามัคคีและมีเหตุมีผลขึ้น มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี สามารถเข้าสังคมได้เก่ง กล้าคิด กล้าแสดงออกไม่ว่าจะเป็นกับชาวไทยหรือชาวต่างประเทศ” ครูไพรัชระบุ
เรื่องราวต่างๆ ที่ถ่ายทอดผ่านบทละครและการแสดงของ “คณะหุ่นสายจิ๊กกิ้ว” จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ความบันเทิงของผู้ชมอย่างเท่านั้น เพราะพวกเขาต้องสืบค้นและทำความเข้าใจในเรื่องของสุขภาวะในทุกมิติผ่านค้นคว้าหาข้อมูลในด้านต่างๆ อาทิ ปัญหาสาธารณสุข ผลเสียของการดื่มเหล้า ปัญหาสุขภาวะอันเกิดจากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมทั้ง ดิน น้ำ อากาศ ปัญหาขยะในชุมชน ฯ
“ก่อนที่จะนำมาสร้างเป็นบทละครเพื่อสื่อสารเรื่องของสุขภาวะไปถึงผู้ชม เด็กๆจะบูรณาการองค์ความรู้หลายด้าน จะได้ซึมซับผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน ต่างไปจากการเรียนรู้ผ่านตำราในห้องเรียน ยิ่งร้องเล่นเต้นแสดงซ้ำๆ ก็ช่วยยิ่งตอกย้ำและพัฒนาไปสู่จิตสำนึก เป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับพวกเขาต่อไปในอนาคต” อาจารย์ปาริชาติ กล่าวสรุป.