จนเมื่อ “นายตรีภพ สมัครลาน” ผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบันได้เข้ามาบุกเบิกถางป่าพลิกผืนดินแห้งและรกร้างเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่โดยยึดหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง” มาบูรณาการต่อยอดกระบวนการเรียนรู้ สร้างโรงเรียนให้เปรียบเสมือนบ้าน ส่งเสริมให้นักเรียนมีความฉลาดทางอารมณ์ รักสิ่งแวดล้อม มีทักษะอาชีพติดตัว และมีสุขภาวะที่ดี เพื่อเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต
นายเสน่ห์ คีรี ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผนเขตการศึกษาที่ 4 กล่าวว่า “ผอ.และคณะครูที่นี่ตั้งใจที่จะสร้างโรงเรียนให้เปรียบเสมือนบ้าน มีการส่งเสริมให้นักเรียนฝึกอาชีพเลี้ยงหมู เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ ปลูกพืชผักสวนครัว และวางรากฐานการดำเนินชีวิตด้วยแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนปัญหาเรื่องของความยากลำบากในการเดินทางมาโรงเรียนของเด็กๆ ที่ทำให้นักเรียนขาดเรียนบ่อย ผอ. และคณะครูจึงแก้ปัญหาด้วยการขอรถเก่าๆ ที่เขตการศึกษาจำหน่ายออกไปแล้วมาใช้ ตอนนี้ทั้งครูและผู้อำนวยการผลัดกับขับวันละหลาย 10 กิโลเมตรเพื่อรับส่งนักเรียน"
นางสาวอรชร โตสลุง ครูผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่าเมื่อตอนที่ ผอ.ตรีภพ จะทำให้โรงเรียนเป็นเศรษฐกิจพอเพียง มีแต่คนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะโรงเรียนมีแต่ผู้หญิง ท่านจึงเริ่มต้นจากถือมีดพร้าเข้าไปถางป่าด้วยตัวเอง และพาครูไปช่วยกันปรับพื้นที่ เมื่อชุมชนเห็นความตั้งใจจริง ก็เข้ามาช่วยเหลือทำพื้นที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์โดยยึดแนวพระราชดำริ จนกระทั่งโรงเรียนจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากในหลวงพระราชทานความช่วยเหลือให้เป็นโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา
“สมัยก่อนบรรยากาศโรงเรียนน่ากลัว พอตกเย็นครูก็ขึ้นบ้านแล้ว แต่พอ ผอ.ตรีภพ มาอยู่ โรงเรียนก็เปลี่ยนไปตอนนี้รู้สึกว่า โรงเรียนเหมือนบ้าน ผอ.บอกว่า งานพัฒนาโรงเรียนเป็นงานปิดทองหลังพระ ถ้าเราทำดีแล้วคนจะเห็นเอง ความดีนี้จะยั่งยืน และยังบอกเสมอว่า ฟ้ามีตา และก็จริง เพราะเมื่อได้พบกับท่านองคมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลลานนท์ ในที่สุดเราก็ได้เป็นโรงเรียนในกองทุนการศึกษา" ครูอรชรกล่าว
และเพื่อให้นักเรียน และชุมชนทุกคน ได้มีสุขภาพกายและใจที่ดี ลดปัญหาการขาดเรียนเนื่องจากปัญหาสุขภาพของเด็ก คณะครูยังต่อยอดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการดำเนินงาน “โครงการเรียนรู้สู่โลกกว้างใช้สิ่งรอบข้างเป็นครู มุ่งสู่ความฉลาดทางสุขภาวะ” ขึ้นภายใต้โครงการ “ต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็กแลเยาวชน” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) เพื่อให้นักเรียนและชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาสุขภาวะอย่างถูกต้อง
โดยขอความร่วมมือจากคณะครูและนักเรียน ร่วมกันผลิต “สื่อส่งเสริมสุขภาวะ” ติดตั้งไปทั่วโรงเรียน ทั้งผนังโรงเรียน กำแพง ถังน้ำ โอ่งเก็บน้ำ ต้นไม้ ฯลฯ มีการปรับหลักสูตรให้ทันสมัยโดยส่งเสริมให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้จากสื่อต่างๆ อีกทั้งยังมีการจัดทำห้องสมุด สร้างรถอ่านหนังสือเคลื่อนที่ และจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาสุขภาวะด้วยการจัดเวลานักเรียนออกกำลังกาย จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน แรลลี่เพื่อสุขภาวะ โดยเน้นให้เด็กได้รู้จักใช้สิ่งรอบข้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อย่างในช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา นักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ก็ได้เรียนรู้ในการปรับตัวเข้ากับภัยพิบัติ โดยมีการมีการสอนเรื่องการทำแพ และทดลองพานักเรียนล่องแพในคลองหลังโรงเรียน มีการสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษในแพ เป็นโลกกว้างและการเรียนรู้ที่ไม่ได้หยุดแค่ในห้องเรียน
“ในห้องเรียนเราก็จะเน้นให้เด็กรู้จักค้นคว้าหาความรู้ โดยเราได้รับพระราชทานคอมพิวเตอร์มา 22 เครื่องจากในหลวง และเรายังได้รับความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ใจดีมากมาย เด็กๆ จะชอบอ่านหนังสือและชอบทำสื่อความรู้เอง โดยนำความรู้จากครู จากผู้ปกครอง และสิ่งที่เขาได้พบเจอจากสิ่งรอบข้างมาเล่าเรื่องทำเป็นสื่อพัฒนสุขภาวะในรูปแบบต่างๆ” ครูอรชร กล่าวเสริม
โดย “สื่อพัฒนาสุขภาวะ” ที่ครูและนักเรียนร่วมกันทำนี้ มีตั้งแต่ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Book เรื่อง ผลไม้มีประโยชน์, กินผักกันเถอะ หรือ หนังสือส่งเสริมการอ่าน เรื่อง หนูนิดเป็นโรคตาแดง,วัยใสเข้าใจรัก,หนูนิดไม่ยอมออกกำลังกาย, ครอบครัวตึ๋งหนืด, ตะลุยเอาชีวิตรอด, ล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า, เศรษฐศาสตร์อย่างง่าย, ระบบนิเวศ, เศรษฐกิจพอเพียง, รู้ไหม อาหารที่เรากินไปไหน , ยาเสพติด, กินดี มีสุข ฯลฯ สื่อเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะไปอยู่ในห้องสมุดเคลื่อนที่ๆ สามารถเข็นไปอ่านได้ทุกที่แล้ว เด็กๆ ยังสามารถนำกลับบ้านไปอ่านให้พี่ น้อง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายได้ฟัง รวมไปถึงพืชผักผลไม้ที่ปลูกในโรงเรียนก็ยังเป็นอาหารของครอบครัวเด็กได้ ทุกอย่างส่งผลดีต่อทุกคนทั้งชุมชน ครอบครัว และตัวของเด็กเอง
“บรีส” ด.ช. ฐิติพงษ์ ชูวงษ์ นักปลูกผัก เล่าว่า "ชอบเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะสอนให้เราสามารถทำมาหาเลี้ยงตัวเองได้ ทุกวันนี้ปลูกผักปลอดสารพิษที่บ้าน มีทั้งคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ปลูกพริก และเอาไปขาย ถ้าฤดูหนาวผักจะงามมาก ถ้าเพื่อนคนไหนอยากรู้ก็มาถามได้ ก็ยินดีสอนให้"
“กาย” ด.ช.กิติรัตน์ คงสมนึก ผู้แต่งนิทานเรื่อง หนูนิดไม่ชอบออกกำลังกาย เล่าว่า "เราจะแบ่งการทำหนังสือออกเป็นกลุ่ม ใครวาดรูปสวยก็วาด ใครแต่งเรื่องได้ก็แต่ง มีน้องๆ ที่ไม่สบายบ่อย พอได้อ่านหนังสือสือของเราแล้ว ก็เอาไปทำตามตอนนี้ก็สุขภาพดีแข็งแรงวิ่งเล่นได้แล้ว”
“ฟิล์ม” ด.ช.ศักดา ขยันกิจ ประธานนักเรียน เล่าว่า "จะช่วยงานของคุณครูทุกอย่างเท่าที่ทำได้ พอมาที่โรงเรียนก็ช่วยเพื่อนๆ ทำงานในทุกกิจกรรม ช่วยปลูกผัก เลี้ยงหมู และยังนำความรู้ที่ได้ไปปลูกผักกินเองที่บ้าน ช่วยประหยัดค่าฝช้จ่าย และไม่ต้องเสียเงินซื้อผักต่างๆ ด้วย"
นอกจากการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวแล้ว ทางโรงเรียนยังเน้นที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวด้วยการเสริมสร้างความรัก ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ด้วยการไหว้พ่อแม่ทั้งไป และกลับจากโรงเรียนเพื่อสร้างพื้นฐานจิตใจที่ดีให้กับเด็กๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน
นายตรีภพ สมัครลาน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลำโป่งเพชร กล่าวว่า การที่จะสร้างเยาวชนให้เป็นคนดีได้นั้น จะต้องเกิดจากการปลูกฝังที่ดี เหมือนการปลูกต้นไม้โดยเพาะเมล็ด ที่จะได้ต้นไม้ใหญ่ที่มีรากแก้วที่แข็งแกร่ง แต่ทุกวันนี้เราชอบตอนกิ่ง ทาบกิ่งแทน จึงทำให้พื้นฐานทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป
“หากเยาวชนได้รับการปลูกฝังในสิ่งที่ดี มีคุณธรรม เมื่อเติบโตไปทักษะชีวิตของเขาจะคงทนถาวร คิดเป็น คิดเองได้ ซึ่งก็เหมือนการอบรมบ่มเพาะของสังคมในอดีต แต่เราละเลย เราลืมรากเหง้าไป ทางคณะครูจึงพยายามทำให้พื้นที่ในโรงเรียนนี้เป็นจุดเริ่มของการสร้างภูมิต้านให้เด็กๆ ได้เติบโตได้อย่างแข็งแรง สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข" ผอ.ตรีภพระบุ