นางนภา กล่าวว่า จากกรณีเด็กหญิง อายุ ๑๐ ขวบ มีอาการหวาดระแวง กลัวคนแปลกหน้า ต้องลาออกจากโรงเรียน เพื่อมาเลี้ยงดูพ่อ อายุ ๗๐ ปี ที่พิการตาบอดทั้ง ๒ ข้าง ทางบ้านมีฐานะยากจน อาศัยอยู่ในบ้านสภาพเก่า ทรุดโทรม ที่จังหวัดราชบุรี ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดราชบุรี (พมจ.ราชบุรี) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและการช่วยเหลือในเบื้องต้น ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาลของพ่อ ที่พิการตาบอด ดูแลเรื่องการศึกษาของเด็กหญิง พร้อมเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ และกรณีเกิดเหตุผิดพลาดในการส่งหมายแจ้งหมายเรียกตัวชายหนุ่ม อายุ ๑๘ ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคออทิสติก ให้เข้าไปค่ายบำบัดยาเสพติด ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติติดยาเสพติด ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกระบี่ (พมจ.กระบี่) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและการช่วยเหลือ ในเบื้องต้นตามภารกิจกระทรวงฯ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการรักษาพยาบาล โดยการกระตุ้นพัฒนาการให้สมวัย ปรับพฤติกรรมและอารมณ์ให้เหมาะสม สามารถใช้ชีวิตเป็นปกติในสังคมได้ โดยทั้งสองกรณีนี้ ให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สนับสนุนการช่วยเหลือตามภารกิจอย่างเต็มที่
“สำหรับปัญหาชาวโรฮีนจา ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและปรากฏว่าส่วนหนึ่งเป็นผู้เสียหาย จากการค้ามนุษย์นั้น ขอให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลให้พร้อม เพื่อเป็นฐานข้อมูลเรียกใช้ประโยชน์ได้อย่างทันท่วงที”นางนภา กล่าวท้าย