นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ส.อ.ท. เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ 2020 (Vision 2020) ของกลุ่มคลัสเตอร์ปิโตรเคมี ว่ามีความมุ่งมั่นให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทย เป็นผู้นำในภูมิภาค โดยมีเป้าหมายให้กลุ่มโรงกลั่นปิโตรเลียม พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และบริหารการจัดการ เพื่อสร้างความมั่นคงในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง สนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความเป็นธรรมในการใช้พลังงาน เพื่อให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ด้านปิโตรเคมี จะสร้างความมั่นคงด้านการผลิตทั้ง Petro-based และพัฒนา bio-based พร้อมขยายขีดความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์พิเศษ (Specialty products) ด้วยเทคโนโลยี เพื่อก้าวสู่ผู้นำในเขตเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน (AEC) ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก มุ่งเน้นการผลิตทดแทนการนำเข้า เพื่อลดการขาดดุลการค้าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับประชาชน รวมทั้งจะขยายตลาดไปยังสินค้า Hi value-added product และผลิตสินค้าจาก bio-plastic ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับกลุ่มเคมี มีเป้าหมายพัฒนาระบบและมาตรฐานการจัดการสารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศและรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ
“คลัสเตอร์ปิโตรเคมี มียุทธศาสตร์มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้า ยกระดับการผลิตให้เป็น High–value ทดแทนการนำเข้า ส่งเสริมให้มีการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อให้ธุรกิจในคลัสเตอร์ปิโตรเคมีเติบโตอย่างยั่งยืน มีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจ การใช้ชีวิตของสังคมยุคใหม่โดยดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน ให้อยู่ร่วมกันกับอุตสาหกรรมอย่างมีความสุข และลงทุนด้านเทคโนโลยี พัฒนาความสามารถด้าน Eco-process & Eco-products สร้างกลไกในการป้องกัน และบริหารจัดการผลิตภัณฑ์สารเคมี พร้อมสร้างโอกาสทางการลงทุนจากการเปิดเสรีจากกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจต่างๆ โดยเราจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในการผลิต Specialty, Bio-plastics และ Bio-Refinery พร้อมกับส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีการเติบโตผลิตสินค้าและบริการ เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น เป็นกลไกสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้มีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคในประเทศ และขยายตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมถึงมีการพัฒนาระบบการขนส่งและจัดส่งเพื่อลดต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้อีกด้วย” นายบวร กล่าว
นายบวร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เพื่อให้คลัสเตอร์ปิโตรเคมี มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในสังคม ทางคลัสเตอร์ฯ จะมีการส่งเสริม Eco-industry สร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และมีศูนย์ทดสอบคุณภาพ นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการปลูกพืชพลังงานให้กับเกษตรกรไทย ทางคลัสเตอร์ฯ พร้อมให้การสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน อันจะยังประโยชน์ด้านต่างๆ ให้กับประเทศ และที่สำคัญต้องมีแผนในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรระยะยาวเพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม มีการสร้าง Center of Excellence ร่วมกับภาคการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม สร้างความเชื่อมโยงของเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี
สำหรับมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อผลักดันคลัสเตอร์ปิโตรเคมีสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาค รัฐจะต้องมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาขีดความสามารถเพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-Industry) ปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศไทยให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกภาคส่วนและสะท้อนต้นทุนพลังงานที่แท้จริงของประเทศ (LPG) มีมาตรการเชิงรุกส่งเสริมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า อาทิ การส่งเสริมการลงทุน มาตรการด้านการตลาด เทคโนโลยีและข้อมูลการค้าเชิงลึก และให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อประชาชนเพื่อให้เห็นว่าคลัสเตอร์อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีส่วนสำคัญต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม คลัสเตอร์ปิโตรเคมีประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก 4 กลุ่ม ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปิโตรเคมี พลาสติก และเคมี ซึ่งขณะนี้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเคมีเติบโตอย่างมาก ด้วยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมีลักษณะพิเศษ สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะทางได้ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจึงเป็นผลิตภัณฑ์เพื่ออนาคต สิ่งเหล่านี้ได้มาจากทรัพยากรภายในประเทศ เช่น ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งสามารถนำมาแปรสภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าเพิ่ม และยังเป็นการช่วยลดการใช้พลังงานอีกด้วย
อนึ่ง ทิศทางการพัฒนาธุรกิจกลุ่มปิโตรเคมี จะต้องมีการปรับรูปแบบการดำเนินการและการบริการต่างๆ (Business Model) ที่เหมาะสม และส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือประสานงานความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม กับส่วนงานราชการ ผู้จำหน่าย เพื่อ ให้คลัสเตอร์ปิโตรเคมีเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน