การปรับพฤติกรรม รองรับการเปลี่ยนแปลง ๑) การอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาทักษะชีวิตเด็ก” ดำเนินการวันที่ ๒๓ – ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดชัยนาท ระยะเวลา ๔ วัน เป็นการให้ความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะชีวิตด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของเด็กทุกกิจกรรมในเรื่องต่าง ๆ คือ การสร้างสัมพันธภาพ การยอมรับความแตกต่าง การคิดวิเคราะห์เหตุผล การเลือกตัดสินใจอย่างถูกต้อง การพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ และการทำงานเป็นทีม
การเรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ๒) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างภาค ระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ระยะเวลา ๒ วัน กิจกรรมประกอบด้วย ทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดชัยนาท ได้แก่ ชุมชนชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่ง อ.กุดจอก การทำนา ณ ศูนย์เกษตรข้าวไรซ์เบอร์รี สวนนกชัยนาท การทำกิจกรรมสร้างสัมพันธภาพ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันระหว่างเด็กภาคใต้กับเด็กในจังหวัดชัยนาท
การเกาะติดวิถีชีวิตชุมชนและครอบครัว ๓) การพักกับครอบครัวรับรอง ระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ระยะเวลา ๓ วัน ๒ คืน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว การช่วยเหลืองานบ้าน ทำอาหาร อาชีพ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของชุมชน โดยให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัว และสามารถปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
๔) การประชุมสรุปบทเรียนและประเมินผล ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๘ ณ โรงแรมชัยนาทธานี กิจกรรมประกอบด้วย การสรุปบทเรียนที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ การประเมินผล ความพึงพอใจของผู้เข้าร่วม และการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป
นางระรินทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ประกอบด้วย เด็กและเยาวชนชายหญิง ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา อายุระหว่าง ๑๕ - ๑๘ ปี จาก ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สตูล ยะลา และสงขลา จังหวัดละ ๑๕ คน รวมจำนวน ๗๕ คน เด็กในจังหวัดชัยนาท จำนวน ๗๕ คน ครอบครัวรับรอง จำนวน ๗๕ ครอบครัว สำนักงานพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ๖ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนของจังหวัดชัยนาท รวมทั้งสิ้น จำนวน ๒๕๐ คน
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะทำให้เด็กเยาวชนที่ได้มาร่วมโครงการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น เปิดใจ ยอมรับ และเรียนรู้ในสิ่งที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นอาหาร ภาษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งตัวเด็ก ครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังทำให้ความตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมของไทย เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่าง การรู้เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้นำความรู้และประสบการณ์ชีวิตที่ดีจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ไปพัฒนาตนเอง ครอบครัว และชุมชน อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป