สำหรับงาน CPF SUPPLY CHAIN SUSTAINABILITY CONFERENCE ถือเป็นเวทีกลางที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและคู่ค้าธุรกิจเพื่อร่วม “รับฟัง” แนวทางที่จะร่วมก้าวเดินไปด้วยกันบนแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง เพื่อร่วม “เรียนรู้” ประสบการณ์ของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการผนวก “ความยั่งยืน” เป็นหนึ่งเดียวกับธุรกิจ และเพื่อร่วม “แบ่งปัน” ความคิดเห็น อันนำไปสู่การร่วมกันบริหารคุณภาพสินค้าและบริการด้วยรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภค คู่ค้า และนักลงทุนในปัจจุบันให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดย “นโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ” เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างซีพีเอฟและคู่ค้าธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาวและการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันในที่สุด นอกจากนี้นโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนฯ ยังเป็นแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยง และเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยมุ่งเน้น “ส่งเสริมสนับสนุน” และ “ร่วมคิดร่วมทำ” เพื่อเชื่อมโยงศักยภาพ ขีดความสามารถทางการแข่งขัน ตลอดจนการมีส่วนร่วมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมระหว่างบริษัทและคู่ค้าธุรกิจ
“งานวันนี้ถือเป็นก้าวแรกของการขับเคลื่อนแผนงานบริหารความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยเป้าหมายการส่งเสริมคู่ค้าธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน หรือ WIN-WIN PARTNERSHIP ภายใต้เสาหลักสู่ความยั่งยืนด้านสังคมพึ่งตน โดยซีพีเอฟตระหนักว่า “คู่ค้าธุรกิจ” เป็นห่วงโซ่สำคัญของการร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร สานต่อการก้าวสู่ “ครัวของโลก “ และบรรลุพันธกิจการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ เราไม่สามารถดำเนินงานเพียงลำพัง เพราะการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบตลอดกระบวนการดำเนินธุรกิจของบริษัทและคู่ค้าธุรกิจ” นายชัยวัฒน์ กล่าว
สำหรับนโยบายและแนวปฏิบัติดังกล่าวครอบคลุมการดำเนินงาน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์และบริการ (Product and Service) ให้ความสำคัญและใส่ใจอย่างยิ่งในเรื่อง “คุณภาพและความปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร” เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต้นทางก่อนส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภค ด้านบุคลากร (People) ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติต่อบุคลากรอย่างเป็นธรรมและเคารพในสิทธิมนุษยชน ด้านกระบวนการผลิต (Process) ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยต้นทางและพื้นฐานของธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร และ ด้านการดำเนินงาน (Performance) ยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และการปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ซีพีเอฟพร้อมขับเคลื่อนแผนงานบริหารความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง หลังจากการส่งมอบนโยบายและแนวปฏิบัติ เตรียมจัด Workshop ไตรมาส 2-3 เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและส่งเสริมคู่ค้าในการประเมินแนวปฏิบัติที่สอดคล้อง ถือเป็นเรื่องดีที่คู่ค้าจะได้ทราบจุดในการพัฒนาเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจโดยตั้งอยู่บนรากฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ บริษัทเชื่อมั่นว่าหากคู่ค้าธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจที่มีความสอดคล้องกับนโยบายและแนวปฏิบัติที่ทางบริษัทมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนแล้ว จะช่วยพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว