เทคนิคพิมาย ประดิษฐ์ “กาลักโอ่ง”

พุธ ๒๗ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๑:๐๔
เทคนิคพิมาย ประดิษฐ์ “กาลักโอ่ง”...เครื่องช่วยใช้น้ำ เติมความสุขคนชนบท

ในพื้นที่ชนบทระบบน้ำประปายังไปไม่ทั่วถึง ภาชนะเก็บน้ำอย่าง “โอ่ง” จึงเป็นของใช้ที่จำเป็นไว้เก็บน้ำฝนและรองรับน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งขนาดโอ่งโดยทั่วไปมีความจุ 1,600 ลิตรและไม่มีก๊อกเปิดปิด ทำให้เป็นอุปสรรคในการนำน้ำมาใช้ จึงต้องปีนป่ายขึ้นไปบนขอบโอ่งใช้กระป๋องตักหรือที่ง่ายสุดคือการใช้สายยางจุ่มลงไปก้นโอ่งดูดน้ำขึ้นมาใช้ แต่วิธีนี้จะมีตะกอนน้ำจากก้นโอ่งลอยติดขึ้นมา ทำให้น้ำที่ได้ไม่สะอาด

“การใช้สายยางจุ่มลงไป ต้องใช้แรงลมปากมากในการดูดน้ำขึ้นมา ซึ่งทำได้ยากสำหรับผู้สูงอายุ และเด็ก หากจะแก้ปัญหาด้วยการเจาะโอ่งเพื่อแล้วติดตั้งก๊อกก็จะเสี่ยงต่อการที่โอ่งแตกร้าว ก่อให้เกิดความเสียหายจนไม่สามารถใช้บรรจุน้ำได้อีก” นายพีระพงษ์ พลีดี นักศึกษาสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยเทคนิคพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา หนึ่งในทีมผู้ผลิตสิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ช่วยในการนำน้ำจากโอ่งมาใช้ เล่าถึงถึงปัญหาการใช้น้ำของคนในพื้นที่อำเภอพิมาย

เพื่อตอบโจทย์ความต้องการคนในชุมชน พีระพงษ์ จึงได้ร่วมกับเพื่อนๆ 12 คน โดย มีอ.ชัชวาล คำเพชรดีเป็นที่ปรึกษา นำองค์ความรู้ที่มี ระดมสมองมาช่วยกันคิดค้นประดิษฐ์อุปกรณ์ที่สามารถช่วยนำน้ำออกจากโอ่งเพื่อนำมาใช้ได้อย่างสะดวก ลองผิดลองถูก จนในที่สุดประสบความสำเร็จ ตั้งชื่อว่า “กาลักโอ่ง”

พีระพงษ์บอกว่า อุปกรณ์ชนิดนี้ผลิตจากสแตนเลสเกรด 304 คุณสมบัติ ทนทานต่อสนิม ดัดขึ้นโค้งให้เข้ากับลักษณะของโอ่ง แล้วติดวาล์วเปิดปิดน้ำ ทำให้ง่ายต่อการใช้งาน และถูกสุขลักษณะ

“การทำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เราทำรูปแบบของบริษัท Phimai J&C จำกัด เริ่มทำกันมาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา โดยลงหุ้นคนะล 100 บาทรวม 1,200 บาท สมทบกับเงินกู้จากวิทยาลัยราว 20,000 บาท เพื่อลงทุนซื้อท่อสแตนเลสและอุปกรณ์อื่นๆ ส่วนเครื่องมือในการตัด และเครื่องมือช่าง ใช้วิธียืมจากแผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์และซ่อมบำรุง” พีระพงษ์ เล่าให้ฟัง

ส่วนราคานั้น ตั้งไว้ที่ชิ้นละ 399 บาท คำนวณต้นทุนแล้วได้กำไรชิ้นละ 99 บาท หลังจากผลิตออกมาในระยะเวลา 4 เดือน สมาชิกในกลุ่มผลิตและขายได้ 84 ชิ้น รวมรายได้จากการจำหน่ายให้ชาวบ้านในพื้นที่รวม 33,519 บาท ในเบื้องต้นเมื่อหักต้นทุนและเงินช่วยเหลือทางสังคม สมาชิกได้คืนเงินลงทุน ไปครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดอบรมให้ความรู้และสอนวิธีทำกาลักโอ่งพร้อมมอบอุปกรณ์ ให้ชาวบ้าน บ้านมะค่า อ.พิมาย พร้อมกันนี้ได้รับมอบเงินสนับสนุนจากการระดมทุนในการทำอุปกรณ์ กาลักโอ่ง เพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้านที่ขาดแคลนต่อไป

ทั้งนี้การผลิตอุปกรณ์ “กาลักโอ่ง” เป็นผลงานระหว่างเรียนของนักศึกษาที่จะถ่ายทอดให้กับรุ่นน้องต่อไป ซึ่งสินค้านี้ยังรับผลิตตามสั่ง โดยสามารถสั่งซื้อได้ที่วิทยาลัย หรือทางเว็บไซต์ของวิทยาลัย ปัจจุบันลูกค้ายังเป็นคนในพื้นที่ เพราะด้วยรูปทรงลักษณะของสินค้าที่มีขนาดยาว ทำให้ไม่สามารถส่งทางไปรษณีย์ได้ แต่ก็ยังมีการคิดค้น และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับรูปแบบให้เป็นลักษณะประกอบได้เอง อีกทั้งสินค้าชนิดนี้กลุ่มลูกค้าที่ใช้งานอยู่ในชนบท การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ยาก ดังนั้นต้องทำการตลาดในลักษณะการออกหน่วยเคลื่อนที่สาธิตสินค้า ประกอบกับกำลังซื้อมีอยู่อย่างจำกัด

จุดแข็งของ กาลักโอ่ง ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จดสิทธิบัติ และราคาไม่แพง สามารถใช้แก้ปัญหา ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะกับชาวชนบทห่างไกลได้ ถือเป็นผลงานจากนักศึกษาที่ช่วยเหลือสังคมได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้ “กาลักโอ่ง” ได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ และคว้ารางวัลแชมป์ระดับภาค จากการประกวดโครงการ “กรุงไทย ยุววาณิช ครั้งที่ 13 ประจำปี 2557 โดยรับทุนการศึกษา 85,000 พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ซึ่งจัดพิธีมอบรางวัลกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเร็วๆ นี้

อนึ่ง โครงการกรุงไทย ยุววาณิช จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 โดย ธนาคารกรุงไทย เพื่อจุดประกายและสร้างเยาวชนที่มีคุณธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ตามแนวคิดทุนทางปัญญาไม่มีวันหมด โดยเน้นให้เยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้มีเวทีในการฝึกปฏิบัติการดำเนินธุรกิจ มีความสนใจและตื่นตัวที่จะใช้ความคิด ความรู้ที่มีอยู่ประกอบกับการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วนำมาปฏิบัติจริงได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ