สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประกาศมาตรฐานชุดข้อมูล Open Government Data ระดมหน่วยงานรัฐเข้าโครงการนำร่อง หวังเปิดชุดข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนและภาคธุรกิจไปใช้งานต่อได้จริง ปีนี้ประเดิม 50 ชุดข้อมูล พร้อมแนวทางปฏิบัติทุกขั้นตอน

พุธ ๒๗ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๕:๑๒
นายสมโภชน์ กาญจนาภรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประธานเปิดงานสัมมนา Open Government Data Conference 2015 เปิดเผยว่า อย่างที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ เศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้น การส่งเสริมให้ภาคส่วนต่าง ๆ นำข้อมูลซึ่งถือเป็นพื้นฐานการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มจึงนับเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐมีการจัดทำข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ตั้งแต่ระดับนโยบายจนไปสู่การบริการสาธารณะ โดยข้อมูลส่วนใหญ่จะเปิดเผยและสามารถเข้าถึงได้บนเว็บไซต์ของหน่วยงาน แต่ก็ยังเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถนำไปประมวลผลต่อในทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยสะดวก จึงเกิดกระบวนการทำงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่ออำนวยให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบ Open data ขึ้น โดยที่สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ได้ริเริ่มเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า จากการผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเข้าโครงการ Open Government Data หรือโครงการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อให้ประชาชนและองค์กรธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ได้ ขณะนี้ EGA ได้สร้างข้อกำหนดการเผยแพร่ และได้เร่งประชุมกับหน่วยงานภาครัฐหลักๆ กว่า 150 หน่วยงาน เพื่อสร้างชุดข้อมูลนำร่องมากกว่า 50 ชุดข้อมูลให้เสร็จภายในปีนี้ ผ่าน Data.go.th ให้ประชาชนและกลุ่มองค์กรธุรกิจสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้ โดย Data.go.th ได้มีการกำหนดระดับการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถพิจารณาถึงการนำไปใช้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เรียงลำดับจาก 1 - 5 ดาว ซึ่งระดับ 5 ดาวนั้นอยู่ในระดับการเปิดเผยข้อมูลแบบสูงสุด โดยมีรายละเอียดแต่ละระดับดังนี้ 1 ดาว คือการเผยแพร่ข้อมูลในทุกรูปแบบบนเว็บไซต์ และอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของสัญญาอนุญาต Open License,2 ดาว คือเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบ Structured data ที่เครื่องสามารถอ่านได้ (Machine-readable) เช่น ข้อมูลอยู่ในรูปแบบไฟล์ Excel, 3 ดาว คือเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบ Non-proprietary format เช่น ข้อมูลในรูปแบบ CSV แทนรูปแบบ Excel, 4 ดาว คือการใช้ URI (Uniform Resource Identifier) ในการระบุตัวตนของข้อมูล และชี้ไปยังตำแหน่งของข้อมูลนั้น และ5 ดาว นั้นข้อมูลจะต้องมีการเชื่อมโยงไปสู่แหล่งข้อมูลอื่นๆ ในบริบทที่เกี่ยวข้องกันได้

“การเผยแพร่ชุดข้อมูลบน Data.go.th จะกำหนดรูปแบบข้อมูลที่จะเผยแพร่อย่างน้อยระดับ 3 ดาว หมายถึง ข้อมูลจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของสัญญาอนุญาต Open License เครื่องสามารถอ่านได้ (Machine-readable) และไม่มีผู้ใดถือครองกรรมสิทธิ์ (Non-proprietary) นั่นคือรูปแบบของ Comma-Separated Value (CSV) หรือ Open Document Spreadsheet (ODS) เป็นอย่างน้อย” ดร.ศักดิ์กล่าว

ในส่วนของขั้นตอนและกระบวนการเผยแพร่ข้อมูลนั้น จะเริ่มจากการจัดการของหน่วยงานเจ้าของข้อมูล จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงาน OGD ของหน่วยงานขึ้นมา ต่อจากนั้นต้องคัดเลือกชุดข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่ โดยคณะกรรมการ หรือคณะทำงาน OGD ของหน่วยงานจะต้องพิจารณาคัดเลือกข้อมูลของหน่วยงาน ทั้งนี้ควรจะต้องพิจารณาชุดข้อมูลที่มีคุณค่าสูง (High-value datasets) หรือเป็นที่ต้องการของทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้อย่างแพร่หลายและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยคณะกรรมการ OGD จะต้องพิจารณาชุดข้อมูลที่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ รวมถึงความเป็นส่วนตัว (Privacy) และการรักษาความมั่นคงปลอดภัย (Security)

เมื่อได้ชุดข้อมูลที่คัดเลือกแล้วต้องต้องมีการจัดเตรียมหรือแปลงชุดข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่มาตรฐานกำหนด รวมถึงการจัดทำคำอธิบายชุดข้อมูลนั้นๆ เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลสามารถเข้าใจเกี่ยวกับบริบทของข้อมูล เช่น วัตถุประสงค์ ขอบเขต วันที่เผยแพร่ ความถี่ในการปรับปรุงและเผยแพร่ แหล่งที่มาของข้อมูล เป็นต้น เสร็จแล้วจึงนำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่ หลังจากนั้นหน่วยงานจะต้องกำหนดผู้รับผิดชอบหลัก เพื่อนำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่สู่สาธารณะ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 2 ช่องทาง คือ นำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน, นำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่ผ่าน Data.go.th โดยในระยะแรก หน่วยงานสามารถส่งชุดข้อมูลพร้อมคำอธิบายชุดข้อมูล (Metadata) ให้กับ EGA ผ่านทางศูนย์บริการลูกค้า ในระยะถัดไป หน่วยงานสามารถนำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่บนData.go.th โดยจะต้องมีการลงทะเบียนเพื่อสมัครขอใช้บริการผ่านระบบยืนยันตัวบุคคลกลาง (OpenID Service)

ในส่วนของศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ เมื่อหน่วยงานเจ้าของข้อมูลนำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่บน Data.go.th ซึ่งเป็นพอร์ทัลกลางในการเผยแพร่ข้อมูลของภาครัฐ โดยชุดข้อมูลทั้งหมดจะต้องมีคำอธิบาย (Metadata) และจะต้องในรูปแบบที่กำหนดไว้ ในส่วนของผู้ใช้ข้อมูลถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลที่หน่วยงานได้เผยแพร่ผ่านช่องทางในการแสดงความคิดเห็นและการร้องขอข้อมูลที่ต้องการได้ ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคนั้น จะช่วยให้เกิดการสร้างนวัตกรรมและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงช่วยให้เกิดการสร้างงานใหม่ๆ อีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO