“เครือข่ายพลเมืองเสวนา” เปิดตัว “Citizen Forum” สร้างกลไกการปฏิรูปภาคประชาชนเข้าใจร่างรธน.

พุธ ๒๗ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๕:๕๒
เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” จับมือภาคีภาคพลเมือง สร้างกลไกการปฏิรูปภาคประชาชนในนาม “เครือข่ายพลเมืองเสวนา” หรือ “ Citizen Forum” เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นร่างเนื้อหารัฐธรรมนูญและสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ทั้ง “ออนไลน์” และ “ออฟไลน์” หวังปูทางสร้างความเข้าใจในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและลดความเหลื่อมล้ำ ตั้งเป้าใช้งานต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 1 ปี หลังรัฐธรรมนูญผ่านเพื่อเป็นเครื่องมือติดตามผล

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงร่างเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า จะทำให้ประชาชนพอใจโดยไม่ต้องทำประชามติหรือไม่ และเมื่อเร็วๆ นี้ มีมติร่วมกันจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เห็นชอบให้ขยายเวลาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญออกไปเป็น 90 วันนับจากวันที่ 26 พฤษภาคม2558 นั้น

เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป” (Reform Now Network : RNN) และองค์กร,เครือข่าย,พลเมือง ที่มีแนวคิดในการผลักดันการปฏิรูปประเทศให้เกิดความก้าวหน้า ประกอบด้วย สมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา,โครงการเทคโนโลยีเพื่อนวัตกรรม?สุขภาวะ สถาบันเช้นจ์ ฟิวชัน,เครือข่ายลงขันความคิดปฏิรูปประเทศไทย,มูลนิธิเอเชีย, มูลนิธิฟรีดริชเนามัน, สถาบันพระปกเกล้า,สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ อีกหลายภาคี ต่างเห็นร่วมกันว่า ก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องให้ประชาชนได้เข้าใจสาระเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ในระดับที่เพียงพอต่อการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ จึงได้เตรียมการจัดกิจกรรม “เครือข่ายพลเมืองเสวนา” หรือ “Citizen Forum” มาก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้าใจ การสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น มุมมองต่อรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่ายในสังคม และสอดรับกับการขยายเวลาแก้ไขร่างฯออกไปอีก 90 วันอย่างบังเอิญ

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดเผยว่า กลไกของเครือข่ายพลเมืองเสวนา ประกอบด้วย สื่อออนไลน์ ได้แก่ เว็บไซต์ citizenforum.in.th และ www.facebook.com/พลเมืองเสวนา และสื่อออฟไลน์ ได้แก่ การจัดพื้นที่ให้พลเมืองได้แลกเปลี่ยนความเห็น ข้อเสนอแนะ นับเป็นการสร้างเครือข่ายพลเมืองที่ให้ประโยชน์ ทั้งทางตรงในแง่การพัฒนาประชาธิปไตยเชิงเนื้อหา และทางอ้อม ในแง่การเสริมสร้างความเข้มแข็งภาคพลเมืองให้เรียนรู้ทำความเข้าใจเนื้อหาของรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปเชิงลึก

“เป้าหมายระยะยาวของพลเมืองเสวนา คือ การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างความปรองดองเพื่อนำสังคมสู่สันติสุข ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความจำเป็นของประเทศไทย เพื่อไม่ให้สังคมติดหล่มอยู่ในวงจรของความขัดแย้งและมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายความร่วมมือไปยังภาคีภาคพลเมืองกลุ่มต่างๆ ให้มีเป้าหมายร่วมในเรื่องนี้” นายบัณฑูร กล่าวและว่า

นับจากวันนี้เป็นต้นไป เป็นห้วงเวลาที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะต้องส่ง “คำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ” จังหวะนี้เองจึงนับเป็นก้าวที่สำคัญของพลเมืองจัดทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพลเมือง โดยสามารถใช้ประโยชน์จากพลเมืองเสวนา ร่วมออกเสียงและความเห็นสนับสนุนต่อการจัดทำข้อเสนอภาคพลเมือง เพื่อยื่นเสนอต่อกรรมาธิการร่างภายใน 90 วัน

ปลายทางการออกเสียงสนับสนุนคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชน จะส่งไม้ต่อไปยังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขยายผลพลเมืองที่เป็นใหญ่ในการมีส่วนร่วมต่อการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนระยะยาวการแสดงความคิดเห็นของประเด็นปฏิรูปด้านต่างๆ เช่น ปฏิรูปสื่อ ปฏิรูประบบสอบสวนของตำรวจ ปฎิรูประบบ EIA จะนำไปสู่แรงหนุนเสริมการขับเคลื่อนของเครือข่ายภาคพลเมือง และสู่กลไกอย่างเป็นทางการของผู้กำหนดนโยบายต่างๆ

นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้พัฒนาเว็บไซต์การมีส่วนร่วมพลเมืองเสวนา www.citizenforum.in.th ได้อธิบายวิธีการใช้เว็บไซต์ ซึ่งนำเสนอสาระสำคัญทั้งในส่วนรัฐธรรมนูญ และประเด็นการขับเคลื่อนงานปฏิรูป ซึ่งนับเป็นโอกาสในช่วง 3 เดือนนับจากนี้ที่พลเมืองจะได้ร่วมกันออกเสียง พร้อมทั้งออกความเห็นต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เสียงที่ท่านลงไปเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำข้อเสนอภาคประชาชนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญและสภาปฏิรูปแห่งชาติ

ทางฝั่งข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมเวที "เสียงพลเมืองกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ช่วงเวลาขอแก้ไขร่างรัฐธรรมในอีก 90 วัน"

คุณสฤณี อาชวานันทกุลและ รศ.ดร. ประภาส ปิ่นตบแต่ง เห็นพ้องกันว่าควรมีการสร้างบรรยากาศใหม่เพื่อเปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอย่างมีความหมาย ซึ่งสามารถทำได้ด้วย 3 วิธี ดังนี้

1) สปช. และกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอให้มีการยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ประชาชนบางกลุ่มเกิดความกังวล หวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญ

2) ให้มีการสื่อสาร ชี้แจงขั้นตอนในทางสาธารณะว่าภายใน 90 วัน ที่จะมีการปรับแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญว่าหากประชาชนต้องการเสนอคำขอแก้ไข ทำได้ผ่านช่องทางใด ข้อเสนอจะถูกนำไปพิจารณาอย่างไร และจะติดตามผลความคืบหน้าได้อย่างไร

3) ให้มีการเปิดเวทีถกแถลงเกี่ยวกับประเด็นในรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายต่างๆ ยังมีความเห็นแตกต่างกันให้กว้างขวาง ขยายเวทีให้ทั่วถึงและมีจำนวนมากขึ้น เพื่อให้เกิดการทำประชามติที่มีคุณภาพ

นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า เจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือต้องการให้พลเมืองเป็นใหญ่ ดังนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้รัฐธรรมนูญเขียนเสร็จแล้ว ควรจะเอื้อให้พลเมืองเป็นใหญ่ได้ในขั้นตอนขณะนี้เลย อยากจะให้น้ำหนักกับกระบวนการมากกว่าเนื้อหา ช่วงเวลา 90 วันที่ กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณาคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก่อนนำไปสู่การลงมติว่าจะรับหรือไม่โดย สปช. จึงเป็นช่วงสำคัญ ให้ผู้รู้มาช่วยกันกลั่นกรอง ชี้ประเด็นว่าเรื่องใดมีความสำคัญอย่างไร และเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาแสดงความเห็น เช่นเดียวกับเว็บไซต์พลเมืองเสวนา เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 40 ล้านคนได้ตื่นตัว แล้วการทำประชามติจะได้เป็นไปอย่างมีคุณภาพ

สำหรับผู้ร่วมเสวนาคนอื่นๆ ก็มีความเห็นต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างกันออกไป

เกี่ยวกับกิจกรรมเปิดตัว “เครือข่ายพลเมืองเสวนา” เมื่อ 26 พฤษภาคม ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นั้น ภาคเช้า เป็นเวทีความคิดการมีส่วนร่วมต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนภาคบ่ายเป็นวงประชุมรับฟังความเห็นกลุ่มย่อยต่อการจัดทำสมัชชาพลเมือง โดยช่วงเช้า เป็นเวทีความคิดหัวข้อ “ Citizen Forum : พลังประชาชนกับการมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญ” วิทยากร ได้แก่ นายปรเมศวร์ มินศิริ และนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตามด้วยเวทีความคิดหัวข้อ “เสียงพลเมืองกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยนายวิเชียร พงศธร ,นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล,นายประภาส ปิ่นตบแต่ง,นางสารี อ๋องสมหวัง,นายเดโช ไชยทัพ,นายฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที,นายพงศ์พรหม ยามะรัต ดำเนินรายการโดยนางสาวณาตยา แวววีรคุปต์

ส่วนช่วงบ่าย เป็นการจัดกระบวนการหัวข้อ “ออกแบบสมัชชาพลเมือง(กทม.) อย่างที่เราอยากเป็น” ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้แทนชุมชนคลองโอ่งอ่าง,ผู้แทนชุมชนตลาดน้อย,นักวิชาการผังเมือง,โดยมีนายอภิษฎา ทองสะอาด เป็นกระบวนกร, ตามด้วยหัวข้อ “พูด คิด ทำ กับเครือข่ายพลเมือง” ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายประภาส ปิ่นตบแต่ง,ผู้แทนสวนผักคนเมือง,ผู้แทนกลุ่มรณรงค์มักกะสัน,ผู้แทนกลุ่มจักรยาน,ผู้แทนคนชายขอบ เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม