ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากมติที่ประชุมคณะทำงานของรัฐบาล โดย นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้กำกับดูแล สมศ.เนื่องจากมีข้อเรียกร้องให้ สมศ.ปรับปรุงระบบการรับรองมาตรฐานและการประเมินสถานศึกษา ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด โดยไม่เพิ่มภาระงานให้ครูมากจนเกินไป โดยคณะทำงานของรัฐบาลต้องการให้เกิดเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาระบบการศึกษาไทย ดังนี้ 1.ตัวชี้วัดการประเมินต้องสะท้อนคุณภาพและสามารถนำมาใช้พัฒนาคุณภาพได้จริง 2.มาตรฐานการประเมินต้องดี 3.ไม่เป็นภาระงานมาก และ 4.ประเมินเชิงพื้นที่มากขึ้นนั้น สมศ.มีความยินดีและพร้อมนำข้อเสนอดังกล่าวไปปฏิบัติ ก่อนการประเมินผลรอบ 4 โดยเฉพาะการปรับปรุงระบบการดำเนินงานในภาพรวม เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาระบบการศึกษาไทย โดยปรับลดจากการวัดมาตรฐาน 7 กลุ่ม 20 ตัวชี้วัด มาเน้นการสะท้อนคุณภาพใน 4 ด้าน ได้แก่ ศิษย์ ครู การบริหารจัดการภายใน และความสัมพันธ์กับภายนอก โดยต้องเป็นข้อที่วัดได้จริงเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา คณะทำงานของรัฐบาล ได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับระบบการรับรองมาตรฐานและประเมินสถานศึกษา ดังนี้ 1.ยกเลิกการประเมินแบบเดิมที่เป็นการไปประเมินที่โรงเรียนตามเอกสาร หรือสถานศึกษาต้องจัดเตรียมมาเป็นการประเมินออนไลน์ และบูรณาการใช้ข้อมูลของหน่วยงานต้นสังกัด ไม่ต้องไปประเมินที่โรงเรียน เพื่อลดภาระงานแก่ครู โดยการสุ่มตรวจจะเป็นไปตามหลักสถิติ ครอบคลุมทุกประเภททุกระดับชั้นและทุกบริบทของสถานศึกษา 2. เพิ่มการประเมินโดยสมัครใจที่จะนำผลการประเมินไปใช้พัฒนาสถานศึกษา โดยอาจมีการรับรองมาตรฐานหลายระดับ เช่น ระดับพื้นฐาน ระดับก้าวหน้า เป็นต้น และ 3. การประเมินเพื่อพัฒนาโรงเรียนและสถานศึกษาบางกลุ่ม ที่เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์การปฏิรูปของกระทรวง หรือของรัฐบาล หรือของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เช่น โรงเรียนในพื้นที่ยากลำบากหรือโรงเรียนขนาดเล็กที่เป็นปัญหามานาน
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับภารกิจที่ทางรัฐบาลมอบหมายให้ สมศ. แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาการรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาขึ้น โดย มี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธาน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและด้านพัฒนาระบบรับรองคุณภาพมาตรฐานนั้น หลังจากนี้ สมศ.จะเร่งดำเนินการพัฒนาระบบและตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินต่อไป พร้อมทั้งประสานเพื่อเตรียมความพร้อมของต้นสังกัด อาทิ สำนักการศึกษาขั้นพื้นสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา