นักวิชาการศศินทร์ จุฬาฯ เตือนรัฐ จัดการแรงงานก่อนเป็นวิกฤตเข้าเออีซี

ศุกร์ ๒๙ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๔:๕๘
นักวิชาการด้านบริหารงานบุคคลแห่งศศินทร์ ออกโรงเตือนรัฐบาลเร่งพัฒนาบุคลากรทั้งระบบแบบจัดเต็มทั้งระยะสั้นและระยะยาว เตรียมรองรับความต้องการแรงงานหลังเปิดเสรีอาเซียน ย้ำชัดอีก 3 ปีมีปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งปริมาณและคุณภาพขั้นรุนแรงในทุกระดับ พร้อมแนะทางแก้ให้รัฐพัฒนาคนโดยอิงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้อำนวยการหลักสูตรการบริหารงานบุคคล สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศศินทร์) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของนายจ้างลูกจ้างในกลุ่มประเทศอาเซียนช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่ AEC ในปลายปีนี้อย่างชัดเจนว่า "ประเทศไทยยังไม่พร้อม" ในแง่ปริมาณและคุณภาพของแรงงานรวมถึงความสามารถในการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยที่ไทยขาดแคลนปริมาณแรงงานค่อนข้างรุนแรงในแทบทุกระดับ และแรงงานไทยมีคุณภาพในระดับปานกลางเท่านั้น ส่วนประเทศที่ขาดปริมาณแรงงานรุนแรงแต่แรงงานมีคุณภาพสูงคือประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศที่แรงงานมีปริมาณมากและมีคุณภาพพอสมควรสามารถเผื่อแผ่ให้เพื่อนบ้านได้ใช้ คือ ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศมาเลเซียนั้น มีปริมาณแรงงานและคุณภาพของแรงงานหนุ่มสาวที่เพียงพอใช้สำหรับประเทศตัวเอง แต่ประเทศที่มีปริมาณแรงงานมากมายและคุณภาพย่อมเยาคือประเทศอินโดนีเซีย ส่วนกลุ่มประเทศที่มีปริมาณแรงงานพอประมาณและมีคุณภาพย่อมเยาวคือ กลุ่มCLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) สุดท้ายคือบรูไน เป็นประเทศที่มีปริมาณแรงงานไม่มากนักแต่มีคุณภาพของแรงงานที่ใช้ได้ ส่วนในด้านขององค์กรนายจ้าง เมื่อพิจารณาความพร้อมจากความสามารถในการสรรหา พัฒนาและรักษาพนักงานที่มีคุณภาพนั้น ในแง่มุมนี้ ผลสำรวจ Global Talent Index (ดัชนีวัดความสามารถในการบริหารจัดการพนักงานคุณภาพระดับโลก) ชี้ว่าสิงคโปร์นำหน้าประเทศอื่นๆในอาเซียนแบบทิ้งห่าง อันดับสองคือมาเลเซีย ตามด้วยฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนามและรั้งท้ายด้วยอินโดนีเซีย

สำหรับทางด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้า-ออกนั้น รศ.ดร.ศิริยุพา กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะไม่มี AEC เกิดขึ้น ก็มีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้า-ออก ประเทศไทยก่อนหน้านั้นมาเป็นสิบปีแล้ว โดยแรงงานทุกระดับที่เป็นช่างฝีมือและแรงงานที่มีทักษะความเชี่ยวชาญสูง เช่น แพทย์ พยาบาล ก็เดินทางออกนอกประเทศไปหารายได้ที่ดีกว่ามานานแล้ว ส่วนแรงงานระดับล่างที่ไม่ค่อยมีฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านก็เดินทางเข้าไทยมารับจ้างนับเป็นล้านๆคน เนื่องจากแรงงานระดับล่างไทยไม่พอ เพราะไทยเราได้เข้าสู่สังคมสูงอายุมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 โดยไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตรา 10.5% เมื่อ10 ปีมาแล้ว

“แรงงานไทยพวกช่างฝีมือต่างๆ ของบ้านเราเป็นที่ต้องการของต่างชาติ เช่น สิงคโปร์ ประเทศในตะวันออกกลาง ไต้หวัน มานานแล้ว แรงงานไทยพวกนี้จึงเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่จ่ายค่าจ้างดีกว่า ดังนั้นสถานการณ์แรงงานช่างฝีมือ ช่างเทคนิคที่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาถึงระดับโรงเรียนอาชีวะศึกษาจึงขาดแคลนมาก และจะเห็นว่าแรงงานระดับนี้ไม่ค่อยตกงาน ซึ่งต่างจากคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ที่จะตกงานมากกว่า เพราะไม่ใช่สายวิชาที่นายจ้างต้องการ นอกจากนี้นายจ้างยังมีปัญหาเรื่องบัณฑิตจบใหม่ที่ขาดทักษะความพร้อมในการทำงานอีกด้วย และสำหรับบัณฑิตที่จบสายวิชาที่ตลาดต้องการ เช่น วิศวกรรมศาสตร์บัญชี ไอที การตลาดและการขาย นายจ้างก็ประสบปัญหาที่พนักงานรุ่นใหม่ชอบเปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น อยู่ทำงานไม่ทน ทำให้นายจ้างรู้สึกไม่คุ้มค่าการลงทุนในการจ้างและฝึกอบรมพนักงานใหม่” รศ.ด.รศิริยุพา กล่าว

ทั้งนี้หลังจากเปิด AEC การเคลื่อนย้ายเข้ามาของแรงงานระดับล่างจากประเทศเพื่อนบ้านอาจจะลดน้อยลงเพราะหากมีชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านี้มากขึ้น แรงงานพวกนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาทำงานในประเทศไทย ไทยอาจจะขาดแคลนแรงงานระดับล่างมากยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนแรงงานที่เป็นผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญระดับกลาง คงจะไม่มีการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกมากนัก ที่จะมีมาน่าจะเป็นบุคลากรสายการแพทย์และพยาบาลที่มาจากฟิลิปปินส์ เพราะค่าจ้างของไทยอยู่ในระดับรองลงมาจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ส่วนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูงนั้น แต่ละประเทศในอาเซียนจ่ายค่าตอบแทนให้ในระดับพอๆกัน และผู้บริหารระดับสูงในอาเซียนมักอยู่ในวัยที่อาวุโส มีครอบครัวแล้ว ไม่อยากโยกย้ายถิ่นฐาน จึงไม่น่ามีการเคลื่อนย้ายเข้า-ออกมานัก แต่น่าจะออกมาในรูปแบบของการเดินทางข้ามประเทศเพื่อปฎิบัติงานเป็นระยะๆมากกว่า ซึ่งจะมีมากขึ้นตามกระแสความเป็นนานาชาติที่ทำให้บทบาทการทำงานของผู้บริหารต้องมีความเป็น “อินเตอร์” มากขึ้น การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูงในทุกระดับของไทยจะส่งผลให้ความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการของไทยลดลง และนักลงทุนต่างชาติจะให้ความสนใจไปลงทุนในประเทศที่มีแรงงานมากกว่าในแง่คุณภาพและ/หรือปริมาณ ซึ่งจะมีประเทศที่มีในแง่ปริมาณและคุณภาพคือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ในแง่ปริมาณคือ อินโดนีเซียและกัมพูชา

สำหรับแรงงานระดับผู้บริหารชั้นต้นและระดับกลาง องค์กรไทยก็ค่อนข้างขาดแคลนเช่นกัน แต่สถานการณ์ยังไม่วิกฤตเท่าการขาดแคลนช่างฝีมือดังที่กล่าวแล้ว แต่ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ ข่าวร้ายของประเทศไทยคือไทยจะเป็นประเทศที่มีแรงงานสูงวัยมากขึ้น และมีแรงงานหนุ่มสาวน้อยลง อีกทั้งผลสำรวจหนี้ครัวเรือนทั่วประเทศก็พบว่าคนไทยในแต่ละครัวเรือนมีหนี้มากขึ้น มีการออมลดลง สุขภาพของคนไทยก็แย่ลงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต สรุปภาพในอีก 3 ปีข้างหน้าคือ ตลาดแรงงานไทยจะเป็นคนสูงวัย ไม่มีเงินเก็บ และอ่อนแอ

“ดิฉันเห็นว่าปัญหา HR เป็นปัญหาระดับชาติที่จะมารอแก้โดยองค์กรที่เป็นปลายทางของกระบวนการพัฒนาคนไม่ได้ เพราะมันไม่ทันการและไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งที่องค์กรนายจ้างจะทำได้ในฐานะที่อยู่ปลายทางก็คือ การปรับปรุงระบบการปฐมนิเทศพนักงานให้เรียนรู้งานเร็วขึ้น พัฒนาการฝึกอบรมพนักงานทุกระดับให้มีผลลัพธ์ดีขึ้นเร็วขึ้น ในราคาต้นทุนที่ต่ำลง เพราะนายจ้างต้องง้อลูกจ้างที่เข้า-ออกงานเป็นว่าเล่น ระบบการพัฒนาคนจึงต้องปรับให้มีความยืดหยุ่น เรียนรู้ไว ใช้งานได้เร็ว สนุก ดึงดูดใจพนักงานรุ่นใหม่ที่อยากพัฒนาตัวเองให้อยากมาทำงานกับองค์กรเข้ากับสถานการณ์แรงงาน ทั้งนี้ตัวหัวหน้างานและผู้จัดการจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาลูกทีมของตนมากขึ้น จะหวังพึ่งแต่แผนก HR ไม่ได้ แต่ที่ต้องทำก็คือ รัฐบาลต้องมีการทบทวนแผนการบริหารบุคคลของชาติในระยะยาวอย่างมีวิสัยทัศน์ ต้องเข้าใจเรื่องแนวโน้มประชากรของชาติที่จะเดินหน้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว ต้องพัฒนาคนโดยอิงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ มิฉะนั้นไทยเราจะขาดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งจะแก้ไขสถานการณ์ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในระยะสั้นคือเวลานี้ก็ต้องร่วมมือกับนายจ้างและสถาบันการศึกษาหาทางปรับปรุงระบบการฝึกอบรมคนให้มีความสามารถทันใช้งานและรักษาคนให้อยู่กับองค์กรแบบเร่งด่วน “ รศ.ดร.ศิริยุพา ให้ความเห็นสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version