นายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงความร่วมมือกัน ระหว่างศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขต 5 สงขลา รวมทั้งเกษตรกรจังหวัดในพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์ไม้ผลในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยผลการประมาณการไม้ผลเศรษฐกิจปี 2558 ไม้ผลทั้ง 4 ชนิด ได้แก่ เงาะ มังคุด ทุเรียน และลองกอง ของทั้ง 5 จังหวัด พบว่าผลผลิตส่วนใหญ่ลดต่ำลง จากสภาพอากาศที่แล้งจัด ส่งผลให้ดอก และผลอ่อนร่วงหล่นไปมาก และบางส่วนยืนต้นตาย ผลผลิตจึงไม่เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี โดยเมื่อจำแนกไม้ผลแต่ละชนิด (ข้อมูล ณ 27 พฤษภาคม 2558) พบว่า
เงาะ มีเนื้อที่ให้ผล 38,966 ไร่ ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 1.98 ปริมาณผลผลิต 14,552 ตัน ลดลงร้อยละ 23.42 ผลผลิตต่อไร่ 373 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 21.18
มังคุด มีเนื้อที่ให้ผล 35,405 ไร่ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 4.08 มีปริมาณผลผลิต 15,099 ตัน ลดลงร้อยละ 13.03 ผลผลิตต่อไร่ 426 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 8.69
ทุเรียน มีเนื้อที่ให้ผล 97,627 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 0.40 มีปริมาณผลผลิต 47,913 ตัน ลดลงร้อยละ 4.03 ผลผลิตต่อไร่ 491 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 4.48
ลองกอง มีเนื้อที่ให้ผล 135,998 ไร่ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 1.67 มีปริมาณผลผลิต 45,214 ตัน ลดลงร้อยละ 9.39 ผลผลิตต่อไร่ 332 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 7.83
สำหรับระยะเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดว่า เงาะและมังคุด จะให้ผลผลิตมากในช่วงต้นเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนกันยายน ส่วน ทุเรียน จะให้ผลผลิตมากในช่วงกลางเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน และลองกองจะให้ผลผลิตมากในช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม ผลผลิตไม้ผล 4 ชนิด ของ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนใหญ่อาศัยการเจริญเติบโตจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากฝนทิ้งช่วงหรือเกิดพายุ ย่อมส่งผลให้ผลผลิตมีโอกาสที่จะปรับลดลงอีก จึงขอให้เกษตรกร หมั่นดูแลเอาใจใส่ผลผลิตที่เหลือเพื่อรักษาคุณภาพไว้ เนื่องจากปีนี้คาดว่าราคาค่อนข้างสูง ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องบูรณาการร่วมกันเพื่อติดตามสถานการณ์ไม้ผลในแหล่งผลิตที่สำคัญของแต่ละจังหวัดอย่างใกล้ชิด สู่เตรียมการวางแผนบริหารจัดการไม้ผลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นายพลเชษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย