นายเลิศปัญญา กล่าวว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นภัยอันร้ายแรง และมีความเชื่อมโยงกับขบวนการทั้งภายใน และภายนอกประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้การป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ขับขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ ทั้งด้านป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู เยียวยาโดยการบูรณาการทำงานร่วมกันกับหลายภาคส่วน เพื่อทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพเป็นรูปธรรมมากขึ้น อีกทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยังมีบทบาทและดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยมีการดำเนินงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายให้เข้าถึงสิทธิทางกฎหมายในด้านต่างๆ สิทธิประโยชน์จากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาช่องทางในการรับเรื่องแจ้งเบาะแสปัญหาสังคมและปัญหาการค้ามนุษย์ ผ่านสายด่วน ๑๓๐๐ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ที่ประชาชนผู้ประสบปัญหาสามารถที่จะเข้าถึงความช่วยเหลือ คุ้มครองได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงทีโดยเจ้าหน้าที่หรือผู้รับเรื่องต้องเป็นคนที่มีความรู้และทักษะในการรับเรื่องโดยเฉพาะประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก เกี่ยวข้องกับประเด็นทางกฎหมาย สิทธิมนุษยชน Hotline หรือสายด่วนจึงเป็นช่องทางที่จำเป็นสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน ๑๓๐๐ได้ประสานความร่วมมือกับองค์การ Polaris Project ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นศูนย์บริการข้อมูลการค้ามนุษย์แห่งชาติ เป็นสายด่วนที่เชื่อมต่อผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายของการค้ามนุษย์ รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจในภาวะวิกฤต ให้คำปรึกษาอย่างครอบคลุม อำนวยการฝึกอบรมและให้การช่วยเหลือทางเทคนิคให้กับหน่วยงานด้านสายด่วน และองค์กรอื่นๆ ทั่วโลก จัดโครงการอบรม Training for the Anti – Trafficking Hotline ขึ้น เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่สายด่วน ๑๓๐๐ และสายด่วนอื่นๆ ในประเทศไทยที่เป็นเครือข่ายที่มีหน้าที่รับแจ้งเหตุ เบาะแสและให้การช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และเพื่อเป็นการวางรากฐานสำหรับการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างกันในระยะยาว รวมทั้งการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ระดับชาติในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ในระดับทวิภาคี เพื่อประสานส่งต่อการช่วยเหลือระหว่างประเทศต่อไป
“การอบรมครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒ – ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ โดยมีผู้เข้าอบรมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สายด่วนภาครัฐ ได้แก่ สายด่วน ๑๓๐๐ สายด่วนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ๑๕๔๖ สายด่วนกรมการจัดหางาน ๑๖๙๔ สายด่วน DSI ๑๒๐๒ สายด่วน ปคม. ๑๑๙๑ สายด่วน ๑๙๑ สายด่วนรับแจ้งคนหาย ๑๕๙๙ สายด่วนศรชล ๑๖๙๖ สายด่วนภาคเอกชน ได้แก่ มูลนิธิสายเด็ก สายด่วน ๑๓๘๗ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) FOCUS A21 และผู้สังเกตการณ์จากประเทศเมียนมา รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๐ คน ทั้งนี้ การจัดอบรมในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ และองค์กร Polaris Project ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม การอบรมครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการบูรณาการระบบช่วยเหลือ คุ้มครองช่วยเหลือ และการประสานส่งต่อผู้ประสบปัญหา ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ และคนพิการ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายใต้กรอบสิทธิมนุษยชนและหลักความเป็นธรรม” นายเลิศปัญญา กล่าวท้าย