ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ แสงทอง คณะวิทยาศาสตร์ นักวิชาการปรับปรุงพันธุ์ กล่าวว่า “การปรับปรุงพันธุ์ได้เริ่มในฤดูนาปี 2547 ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยใช้ข้าวเจ้าหอมพันธุ์ปทุมธานี 1 ซึ่งใช้เป็นพันธุ์รับกับข้าวเหนียวหอมพันธุ์ กข6 ด้วยวิธีผสมกลับ และใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก ผลิตเมล็ดชั่วที่ 1 ทำการผสมกลับ 4 ชั่ว แต่ละชั่วของการผสมกลับใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยคัดเลือกต้นที่เป็น Wxwx และผสมกลับไปหาพันธุ์รับ คือ ข้าวเจ้าหอมพันธุ์ปทุมธานี 1 และผสมตัวเองได้เมล็ด BC4F2 คัดเลือกเมล็ดข้าวเหนียวนำไปปลูก และผสมตัวเองได้เมล็ด BC4F3 ปลูกศึกษาพันธุ์ 4 แถว จำนวน 2 ฤดู คัดเลือกได้สายพันธุ์ข้าวเหนียว กข-แม่โจ้ 2 ฤดูนาปี 2552 และนาปี/นาปรัง 2553 ทดสอบผลผลิตเบื้องต้น ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 3 ฤดู
ในปี พ.ศ.2555 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมการข้าว จึงขอส่งข้าวเหนียวสายพันธุ์ กข-แม่โจ้ 2 เข้าร่วมปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี จำนวน 3 ฤดู ที่ศูนย์วิจัยข้าวภาคเหนือตอนบน คือ ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย และศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน รวมทั้งปลูกเปรียบเทียบผลผลผลิตในนาราษฎรจำนวน 2 ฤดู ในเขตภาคเหนือตอนบนและทดสอบ
ปฏิกิริยาต่อโรค แมลงศัตรูข้าว ทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน ทำการวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพเคมีที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 คณะกรรมการรับรองพันธุ์ กรมการข้าว มีมติให้พันธุ์รับรอง ชื่อ กข-แม่โจ้ 2 เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูก จากวันนั้น ถึงวันนี้ เป็นระยะเวลา 11 ปี ถือเป็นความสำเร็จที่ทีมงานนักวิจัยภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่สามารถปรับปรุงข้าวพันธุ์ดีให้เกษตรกรได้ปลูก นับจากนี้ไปอีก 1 ปี ในการจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ ขอให้เกษตรกรอดใจรอ เมื่อพร้อมแล้วจะรีบประชาสัมพันธ์ให้ทราบ คาดว่าในงานวันเกษตรแห่งชาติ ที่แม่โจ้เป็นเจ้าภาพในปี 2559 จะได้จัดแสดง อีกครั้ง”
ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวระดับโมโลกุล คณะวิทยาศาสตร์ โทรศัพท์ 0 5387 3816