กระทรวงพลังงานเปิดแผนพลังงาน

พฤหัส ๐๔ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๑๓:๐๕
ก.พลังงาน ประกาศเดินหน้า กรอบแผนพลังงานประเทศในภาพรวม Thailand Integrated Energy Blueprint (TIEB) ผ่านเวที Renewable Energy Asia 2015 ส่งสัญญาณสร้างความมั่นใจนานาชาติ และนักลงทุนทั่วโลก ชี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่บูรณาการแผนพัฒนาไฟฟ้า(PDP) พลังงานทดแทน(AEDP) ก๊าซธรรมชาติ(Gas) น้ำมัน(Oil) และการอนุรักษ์พลังงานของไทย(EEP) เพื่อสร้างความมั่นคงพลังงานไทย คู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

วันนี้ (4 มิย.) นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงานกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในการเปิดสัมมนา กรอบแผนพลังงานประเทศไทยในภาพรวม “Thailand Integrated Energy Blueprint : TIEB” ซึ่งถือเป็นกิจกรรมใหญ่ ภายในงาน Renewable Energy Asia 2015 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 5 มิถุนายน 2558 ณ อาคารประชุมและแสดงนิทรรศการไบเทค กรุงเทพฯ โดยในการสัมมนาครั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้ใช้เป็นเวทีเพื่อประกาศถึงความพร้อมของการจัดทำกรอบแผน TIEB รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนา อาทิ ผู้แทนจากสถานทูตทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ นักลงทุนผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานที่เข้าร่วมกว่า 100 ราย รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เป็นต้น

นายทวารัฐ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานต้องการส่งสัญญาณไปยังระดับนานาชาติ ผ่านเวทีการจัดงาน Renewable Energy Asia 2015 ที่กระทรวงพลังงานได้ให้การสนับสนุนหลักครั้งนี้ เพื่อจะอธิบายความสำคัญ และรายละเอียดต่างๆ ของ กรอบแผนพลังงานในภาพรวม หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint (TIEB) ซึ่งถือเป็นแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติที่กระทรวงพลังงานได้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยได้รวบรวมแผนพลังงานของประเทศทั้งหมดเข้าไว้ในแผนเดียว ได้แก่ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEDP) แผนก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยภายใต้แผน TIEB นี้ จะได้รรวบรวมบูรณาการทั้ง 5 แผน ฯ ดังกล่าว เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างความมั่นคงและตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศ สอดคล้องกับการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ทั้งนี้ รายละเอียดที่สำคัญ ๆ กรอบแผน TIEB ซึ่งกระทรวงพลังงานเชื่อมั่นว่า จะสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและนักธุรกิจด้านพลังงาน ถึงการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจากการจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้นทุนพลังงานไม่แพงทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล อาทิ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) ซึ่งเน้นไปที่แนวคิดสร้างความสมดุลย์สูงสุด และแบ่งออกเป็น 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

1.) มิติด้านความมั่นคง สร้างความสมดุลย์ด้วยการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยมีการปรับลดสัดส่วนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ที่ปัจจุบันต้องพึ่งพาสูงถึงร้อยละ 64 ให้ลดลงเหลือร้อยละ 45 – 50 ในปีช่วงกลางแผน ปี 2569 และในปลายแผนจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30 – 40 ในปี 2579 โดยจะเพิ่มในส่วนของพลังงานหมุนเวียน ถ่านหินสะอาด และการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน เป็นต้น

2.) มิติด้านสิ่งแวดล้อม จะรักษาความสมดุลย์โดยเร่งการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาภาวะโลกร้อน โดยการปลดปล่อยคาร์บอนฯ จะลดลงจาก 0.506 กิโลกรัมคาร์บอนต่อหน่วย เหลือ 0.319 กิโลกรัมคาร์บอนต่อหน่วย หรือจะมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ลดลงร้อยละ 37 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการอนุรักษ์พลังงานอย่างเต็มที่ และ3.) มิติด้านการส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจ จากการรักษาสมดุลย์ค่าไฟฟ้า ที่จะช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยตลอดช่วงของแผน PDP 2015

แผนแม่บทพลังงานทดแทนสำหรับประเทศไทย (AEDP) กระทรวงพลังงานได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้งานของพลังงานทดแทนขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 25% ภายในปี 2564 และมีการปรับแผนเพื่อความยั่งยืนของการใช้พลังงานทดแทนเพื่อให้รักษาสัดส่วนการใช้งานดังกล่าวเอาไว้ให้ได้อย่างต่อเนื่องถึงปี 2579 ในส่วนของไฟฟ้าซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในขณะนี้ ประกอบด้วยโดยการดำเนินงานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ จัดลำดับความสำคัญด้วยการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพให้ได้เต็มตามศักยภาพเป็นลำดับแรก เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกับเกษตรกรและชุมชนในการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง

การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนตามรายภูมิภาค โดย Zoning ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพพลังงานหมุนเวียน ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์และ พลังงานลมในลำดับถัดไป เมื่อต้นทุนสามารถแข่งขันได้กับการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG รวมไปถึงส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยวิธีการแข่งขันด้านราคา (Competitive Bidding) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เป็นต้น

แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP โดยจะมุ่งผลไปยังกลุ่มเป้าหมายหลัก 4 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรม อาคาร ที่อยู่อาศัย และภาครัฐ สำหรับกำหนดแนวทางการอนุรักษ์พลังงานที่สำคัญๆ ได้แก่ ยกเลิก/ทบทวนการอุดหนุนราคาพลังงานเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ โดยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด แนวทางใช้มาตรการทางภาษี ลดภาษี และใช้เงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานสนับสนุนอุปกรณ์ที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเร่งรัดการสนับสนุนมาตรการด้านการเงิน ด้วยเงินให้เปล่าและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำา เพื่อให้มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และให้ค่าคำปรึกษาในการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

การกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานในอาคาร (Building Energy Code) และโรงงาน โดย กระทรวงพลังงาน ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย เพื่อผลักดันให้เป็นมาตรการบังคับ การกำหนดให้ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าขนาดใหญ่ ต้องดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานให้ลูกค้า (Energy Efficiency Resources Standard: EERS) รวมไปถึง เร่งรณรงค์ด้านพฤติกรรมและการปลูกจิตสานึกการใช้พลังงานให้เป็นวัฒนธรรมของชาติ เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ