นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.... ได้ผ่านความเห็นชอบของ สนช. เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2558 และนายกรัฐมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย สกย. ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่จะเข้าสู่การเป็น กยท. จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. การยางฯ ว่ามีประเด็นสำคัญใดบ้าง รวมทั้งมีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศต่างๆ ที่จะต้องนำออกไปใช้ เพื่อทำให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นการเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงสร้างความก้าวหน้าให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราต่อไปในอนาคต ซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติงานให้สอดรับกับแผนการจัดการยางพาราทั้งระบบในปี 58/59 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ พร้อมกับนโยบายมาตรการ 16 มาตรการที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว
นายอำนวยยังกล่าวว่า กฎหมายนี้นับเป็นพระราชบัญญัติการยางฯ ฉบับแรกของประเทศไทย ที่เกิดจากการบูรณาการรวมหน่วยงานยางพาราที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง องค์การสวนยาง และสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานใหม่ ภายใต้ชื่อ “การยางแห่งประเทศไทย” หรือ กยท. ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนและดำเนินงานพัฒนาระบบยางพาราของประเทศให้เป็นเอกภาพ และมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฐานะประเทศที่ครองตำแหน่งแชมป์ผู้ผลิตยางพารามากที่สุดในโลก และที่สำคัญจะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเป็นผู้นำตลาดยางพาราโลกจากบทบาทและภารกิจที่ครอบคลุมในการจัดการด้านการตลาด
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถประกอบอาชีพการทำสวนยางที่มั่นคงและยั่งยืน โดยยกระดับระบบตลาดให้มีเสถียรภาพ กยท. จะเข้ามาทำหน้าที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวม 16 มาตรการ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน สิ่งที่ต้องเร่งเตรียมความพร้อม คือ การบริหารจัดการองค์กร ทั้งระบบ การเงิน บัญชี และงบประมาณของปี 2558 และ 2559 ซึ่งจะต้องดำเนินการปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับการเป็น กยท. โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2558 ที่อาจจะต้องนำมาใช้เพื่อการบริหารจัดการ กยท. ประมาณ 2 เดือน รวมทั้งการจัดทำระบบทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางด้วย โดยสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จะมีบทบาทและภารกิจเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มุ่งเรื่องการส่งเสริมปลูกแทน มาเป็นการสนับสนุนพัฒนาสถาบันเกษตรกรให้เติบโตขึ้น และประเด็นที่มีความห่วงใยกันมาก คือ การใช้เงินสงเคราะห์ หรือเงินเซส (Cess) ซึ่งต่อไปจะกลายเป็น กองทุนพัฒนายางพารา โดย กยท. ต้องกำหนดแผนบริหารเงินกองทุนนี้ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ เพื่อบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ด้าน นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) รักษาการ ผอ.สกย. กล่าวว่า ได้เชิญผู้บริหาร สกย. ในส่วนภูมิภาค และส่วนกลาง กทม. เข้าประชุมเชิงปฏิบัติการ “การเตรียมความพร้อมเข้าสู่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และการจัดการยางพาราทั้งระบบของผลผลิต ปี ๒๕๕๘/๒๕๕๙” ระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ที่ห้องประชุมกันตัง สกย. เพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมพร้อมในเรื่องบทบาทภารกิจก่อนก้าวสู่การยางแห่งประเทศไทย การประชุมครั้งนี้จะทำให้ผู้บริหารและพนักงานมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น และเตรียมปรับตัวเข้าสู่การทำงานตามแนวทางของพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.... เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ในส่วนของ สกย.มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทไปจากเดิมที่ดูแลเฉพาะการปลูกแทนยางเก่าเพียงอย่างเดียว เมื่อเปลี่ยนเป็น กยท.ภารกิจจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งการส่งเสริมปลูกแทนยางเก่าด้วยยางพันธุ์ดี/ไม้ยืนต้นอื่น การพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การเพิ่มมูลค่าผลผลิตยางครบวงจร นับเป็นการดูแลยางพาราทั้งระบบ ด้วยภารกิจที่เพิ่มขึ้น จึงปรับโครงสร้างอัตรากำลังให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภารกิจใหม่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการปรับโครงสร้าง กยท. โดยจะมีรักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ดูแลบริหารจัดการองค์กรในลำดับแรก