นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ “เครือข่าย อปท. โปร่งใส หัวใจคุณธรรม” ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมท้องถิ่นปลอดทุจริต ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน และได้คัดเลือกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นและที่ดี สมัครเข้ารับเลือกให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ ด้านการป้องกันการทุจริต เพื่อเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และขยายผลหรือขยายเครือข่ายไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ต่อไป ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับเลือกให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ ด้านการป้องกันการทุจริต จำนวน ๒๘ แห่ง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำนวน 15 แห่ง สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมองค์กรแห่งการเรียนรู้และขยายเครือข่ายด้านการป้องกันการทุจริต โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เครือข่าย อปท. โปร่งใส หัวใจคุณธรรม” ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด จำนวน 76 จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ ด้านการป้องกันการทุจริต จำนวน 43 แห่ง เพื่อรณรงค์ ขยายแนวคิด และสร้างความตระหนักถึงปัญหาการทุจริตที่ส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างร้ายแรง ให้แก่คณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในท้องถิ่น และขยายผลหรือขยายเครือข่ายด้านการป้องกันการทุจริตไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ต่อไป
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เครือข่าย อปท. โปร่งใส หัวใจคุณธรรม” จำนวน 14 ครั้ง การประชุมในวันนี้เป็นครั้งที่ 8 นายประสาท ยังกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญในภารกิจด้านการป้องกันการทุจริต ซึ่งเปรียบเสมือนการเสริมสร้างสุขภาวะให้กับร่างกาย เป็นการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งหากเมื่อเกิดเจ็บป่วยแล้วจำเป็นต้องใช้การรักษาโดยการให้ยา หรือผ่าตัดซึ่งเหมือนกับการปราบปรามการทุจริต อันยังแต่ให้เกิดความเสียหาย