นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เผยว่า “เชฟรอนประเทศไทยให้การสนับสนุน “ค่ายรากแก้ว” มาเป็นระยะเวลา 16 ปี ติดต่อกัน ด้วยงบประมาณรวมกว่า 5 ล้านบาท ด้วยเล็งเห็นถึงความตั้งใจอันดีของกลุ่มนิสิตรากแก้ว ฝ่ายแนะแนวและการศึกษา องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีจิตอาสาต้องการส่งต่อความรู้และสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์แก่น้อง ๆ รุ่นต่อไป ซึ่งจนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนผ่านการอบรมจากค่ายรากแก้วไปแล้วกว่า 5,000 คน ครอบคลุมทั่วประเทศ และบางส่วนได้กลับมาเป็นพี่เลี้ยงจิตอาสา เพื่อส่งต่อความรู้และดูแลน้องๆ รุ่นต่อๆ ไป นับเป็นความสำเร็จที่น่ายินดียิ่ง”
“นอกจากนั้น การสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ผ่านค่ายรากแก้ว ของเชฟรอนประเทศไทยยังสอดคล้องกับโครงการ “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” โครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 900 ล้านบาท ที่มุ่งยกระดับการเรียนการสอนด้าน STEM ตลอดทั้งระบบ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคสังคมและภาคการศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผู้สอนและหลักสูตรในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยเน้นการเรียนการสอนแบบตั้งคำถามและการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เยาวชนเห็นว่าวิชาเหล่านี้เป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัว การส่งเสริมทักษะการเป็นผู้เรียนแห่งศตวรรษที่ 21 ที่รู้จักคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม และกล้าแสดงออก รวมถึงการพัฒนาการศึกษาในสายอาชีพเพื่อพัฒนาบุคลากรที่สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาของประเทศในระยะยาวในอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ให้มีทักษะที่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน”
ตลอดระยะเวลา 8 วัน ของค่ายรากแก้ว ครั้งที่ 27 กลุ่มนิสิตพี่เลี้ยง 60 คน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยอื่นๆ จากคณะในสาขาวิทยาศาสตร์ ทั้ง สัตวแพทย์ ทันตแพทยศาสตร์ จิตวิทยา เภสัชศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ครุศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสหเวชศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่น้องๆ มัธยมศึกษาปีที่5 และปีที่ 6 จากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง ทั้งหมด 247 คน ทั้งในการเรียนรู้ภาคทฤษฎีและปฏิบัติ รวมไปถึงการทำกิจกรรมสันทนาการเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการอยู่ร่วมกันในค่าย ด้วยกิจกรรมหลากหลายที่แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง “ห้องปฏิบัติการ” เน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับด้านฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับการฝึก 13 ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อาทิ การตั้งสมมติฐาน การเฝ้าสังเกต และการทดลอง กิจกรรมส่วนที่สองคือ “5 ฐานมหัศจรรย์” กิจกรรมเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เน้นการลงมือปฏิบัติและเชื่อมโยงเนื้อหาในวิชาต่างๆ เข้ากับปรากฎการณ์ในชีวิตประจำวัน ช่วยให้น้องๆ เข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้น เกิดความสนใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนวิชาในสาขาวิทยาศาสตร์ โดยในวิชาชีววิทยาจะเป็นการผ่าปลาฉลามหูดำ วิชาเคมีจะเป็นการจำลองปรากฎการณ์ภูเขาไฟด้วยน้ำยาล้างจาน วิชาฟิสิกส์จะเป็นการทดลองเรื่องความหนืดโดยใช้แป้งมัน วิชาคณิตศาสตร์จะเป็นเรื่องความมหัศจรรย์ของเส้นตรง และเพิ่มวิชาใหม่คือภาษาอังกฤษ ด้วยกิจกรรมการใบ้คำเพื่อเรียนรู้คำศัพท์ เพราะปัจจุบันทักษะภาษาอังกฤษเป็นทักษะที่มีความสำคัญกับการเรียนและการทำงานในทุกสาขา และสุดท้ายคือกิจกรรมนันทนาการและกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งช่วยละลายพฤติกรรม สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในค่าย และให้ความรู้พร้อมความสนุกสนาน อาทิ กีฬาสีรากแก้ว กิจกรรมดาราศาสตร์ และการตอบปัญหาวิชาการ นอกจากนั้น น้องๆ ยังจะได้รับการแนะแนวอาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์ โดยวิทยากรจากเชฟรอนประเทศไทยอีกด้วย
น้องเต้ย นายชัชนันท์ ศรีทองอินทร์ ประธานค่ายรากแก้วครั้งที่ 27 นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า “จุดเด่นของค่ายรากแก้วคือการเน้นการปฏิบัติผ่านกิจกรรมต่างๆ ค่ายรากแก้วไม่เพียงสอนแต่ทฤษฎี แต่น้องๆ ยังได้ฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์นานาๆ ชนิด ในห้องเรียนที่จำลองเป็นห้องปฏิบัติการ โดยเราแบ่งน้องๆ ออกเป็นกลุ่มย่อย เพื่อให้น้องๆ ทุกคนได้ลงมือปฎิบัติ ตลอดจนให้พี่ๆ สามารถดูและและตอบข้อซักถามได้อย่างใกล้ชิด และภายหลังปฏิบัติการในแต่ละวันจะมีการทดสอบประเมินความรู้ แลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนมากับเพื่อนๆ และพี่ๆ เพื่อให้ความรู้มีความสมบูรณ์และแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนั้น เรายังจัดให้มีกิจกรรมสันทนาการเพื่อละลายพฤติกรรม และสร้างสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง และเพื่อนๆ ประโยชน์ของการจัดกิจกรรมค่ายรากแก้วมิได้จบอยู่เพียงการจุดประกายความรู้และแนะแนวการศึกษาให้แก่น้องๆ เท่านั้น แต่ยังได้สร้างความสัมพันธ์ฉันเพื่อนพี่น้องที่ยังคงอยู่อย่างแน่นแฟ้นแม้ค่ายจะจบไปแล้ว และเป็นเช่นนี้มาตลอด 27 ครั้ง ค่ายรากแก้วจึงกลายเป็นเสมือนสถาบันหนึ่งที่เป็นศูนย์รวมของพวกเราที่สามารถมาแบ่งปันประสบการณ์และความรู้ให้กันและแก่น้องๆ ในรุ่นหลัง ทั้งเรื่องเรียนและเรื่องการทำงานหรือแม้กระทั่งบอกต่อเรื่องโอกาสในการทำงานอีกด้วย ในฐานะประธานค่ายพวกเราขอขอบคุณการสนับสนุนของเชฟรอนประเทศไทยที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาและบุคลากรในสายวิทยาศาสตร์ และได้ให้การสนับสนุนค่ายรากแก้วมาตลอด 16 ปี ช่วยให้เราสามารถจัดกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพและขยายไปยังพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่เหล่านั้นสามารถเข้าถึงโครงการนี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น”
นายสถาพร เยาวพงษ์อารีย์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด วิทยากรรับเชิญอบรมแนะแนว อาชีพ กล่าวว่า “ปัจจุบันความต้องการบุคลากรในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาตร์ ของตลาดแรงงานมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การพัฒนาบุคลากรในสาขาเหล่านี้ให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ อย่างไรก็ดี มีนักเรียนจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าหากเรียนในสายวิทยาศาสตร์แล้วจะประกอบอาชีพอะไร จึงตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาวิชาอื่นแทน กิจกรรมแนะแนวอาชีพจะช่วยให้น้องๆ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพและโอกาสในการประกอบอาชีพของผู้ที่เรียนในสาขาวิทยาศาสตร์ รวมถึงอาชีพในสายงานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม”
น้องมิ้น นางสาวรัตติญาภรณ์ จันทร์เซ็ง นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเข้าค่ายรากแก้วครั้งที่ 23 ที่จังหวัดชุมพร และกลับมาเป็นพี่เลี้ยงให้แก่น้องๆ กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อค่ายนี้ว่า “ค่ายรากแก้วไม่เพียงให้ความรู้และทักษะที่สามารถนำไปต่อยอดกับการเรียนในห้องเรียน พี่ๆ ยังช่วยให้คำแนะนำเรื่องการเลือกศึกษาต่อตลอดจนการเตรียมตัวสอบ นอกจากนั้น กิจกรรมต่างๆ ในค่าย ยังช่วยให้พี่ๆ และน้องๆ ทุกคนผูกพันและสนิทสนมกัน แม้ว่าค่ายจะจบไปแล้ว พวกเราก็ยังติดต่อกันอยู่ โดยน้องๆ ยังสามารถขอคำปรึกษาจากพี่ๆ ได้ตลอดเวลา จนทำให้หนูค้นพบว่าตนเองสนใจด้านจิตวิทยา และสามารถประสบความสำเร็จสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในคณะจิตวิทยาได้ หนูจึงกลับมาเป็นพี่เลี้ยงเพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ และความประทับใจที่หนูได้รับให้แก่น้องๆ รุ่นต่อไป”
น้องกุ่ย นายศุภากร ธีราธินันท์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเบญจมราชูทิศราชบุรี เล่าถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมค่ายรากแก้วปีนี้ว่า “ผมทราบข่าวค่ายรากแก้วจากการที่พี่ๆ มาประชาสัมพันธ์ค่ายที่โรงเรียน จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วม เพราะเห็นว่าค่ายนี้ไม่เพียงให้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่น้องๆ ยังได้รับคำแนะนำเรื่องการศึกษาต่อในสาขาวิทยาศาสตร์จากพี่ๆ ซึ่งจะทำให้สามารถค้นพบตัวเองว่าเราถนัดในวิชาใดและสามารถวางแผนการศึกษาและอาชีพได้อย่างเหมาะสม และเมื่อมาเข้าค่ายก็ได้รับประสบการณ์และความประทับใจเกินกว่าที่คาดหวังไว้ เพราะพี่ๆ ดูแลให้ความรู้และคำแนะนำแก่น้องๆ ทุกคนอย่างเต็มที่และเป็นกันเอง ผมจึงได้รับทั้งความรู้ มิตรภาพ แนวทางและแรงบันดาลใจในการเรียนเพื่อให้สามารถเข้าเรียนต่อในคณะที่ใฝ่ฝัน”
“หนูสมัครเข้าร่วมค่ายรากแก้ว เพราะเพื่อนที่เคยเข้าค่ายนี้บอกว่ามีประโยชน์มาก แล้วก็ไม่ผิดหวังเลย กิจกรรมของค่ายซึ่งเน้นการลงมือปฏิบัติ ให้ทั้งความสนุกสนานและช่วยให้เข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้น และเมื่อเรียนจบในแต่ละวัน พี่ๆ ยังจัดให้มีการทดสอบ ทำให้เราได้ทบทวนความรู้และเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น และที่สำคัญการแนะแนวการศึกษาต่อและอาชีพจากพี่ๆ ยังช่วยให้หนูค้นพบตัวเองว่าอยากเป็นเภสัชกร เพราะเป็นอาชีพที่ตรงกับความสนใจในวิชาเคมีของหนู หนูจะตั้งใจเรียนเพื่อให้ได้เป็นเภสัชกร และนำความรู้มาช่วยพัฒนาประเทศ เพราะในปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศอยู่ค่อนข้างมาก” น้องหลิน นางสาวพรนภา กิ่งมิ่งแร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนระยองวิทยาคม นิคมอุตสาหกรรม กล่าวอย่างมุ่งมั่น
โครงการค่ายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ “รากแก้ว” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปิดภาคเรียนภาคฤดูร้อน และช่วงปิดภาคเรียนย่อยเดือนตุลาคม โดยจะเวียนไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อช่วยจุดประกายความรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ให้กับน้องๆ และเป็นแรงบันดาลใจที่จะนำความรู้ไปปรับใช้ในการเรียนตลอดจนการวางแผนศึกษาต่อและประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป