นายมนต์ชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า“สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 ตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมุ่งหวังให้พสกนิกรที่ยากไร้ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการพัฒนาหน่วยพยาบาลที่มีอยู่ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนให้เป็น “สุขศาลาพระราชทาน” เพื่อเป็นศูนย์กลางบริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ที่มีการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างยากลำบากห่างไกลความเจริญ และเพื่อเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร และประชากรชายขอบระหว่างประเทศ ให้ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศทั้งในยามปกติและฉุกเฉิน รวมทั้งช่วยให้เกิดความไว้วางใจในเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนให้เกิดความมั่งคงของชาติ โดยมี 5 หน่วยงานที่ได้ร่วมสืบสานพระราชปณิธานคือ สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ ทีโอที
นายมนต์ชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ทีโอที ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายสื่อสาร ณ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อให้การรักษาพยาบาลด้วยสื่อสารทางไกล Tele-medicine โดยการติดตั้งอุปกรณ์รับ-ส่ง สัญญาณดาวเทียม iPSTAR ให้บริการอินเทอร์เน็ตพร้อมโทรศัพท์ ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ IT และการ Setup ระบบ Web Conference โดยTelemedicine จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ในการรักษาพยาบาล ประสานงานและพัฒนาสุขภาพขั้นพื้นฐานแบบผสมผสานที่เชื่อมต่อระหว่างหน่วยพยาบาลของโครงการในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอและจังหวัด หรือโรงพยาบาลซึ่งมีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในกรุงเทพฯ นอกจากการรักษาพยาบาลแล้ว “สุขศาลาพระราชทาน” ยังทำหน้าที่สร้างประโยชน์ต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อเสริมสร้างสุขภาพขั้นพื้นฐานและสุขอนามัยที่ดีให้กับนักเรียนและชุมชนในถิ่นทุรกันดารและบริเวณชายขอบ โดยปัจจุบันมีประชาชนที่ได้รับบริการด้านการรักษาพยาบาลผ่าน “สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน” รวมทั้งสิ้นกว่า 42,000 ราย สำหรับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ ทีโอที ได้เข้าไปดำเนินการสนับสนุนระบบสื่อสารโทรคมนาคม ตั้งแต่ปี 2552 –ปัจจุบัน จำนวน 14 แห่ง คือ บ้านแสนคำลือ ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน /บ้านแม่จันทะ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก/บ้านเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก/บ้านเลตองคุ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก /บ้านโป่งลึก (สาขานเรศวรบ้านห้วยโศก) ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี/บ้านทิไล่ป้า ต.โล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี/บ้านไอร์บือแต ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส/บ้านละโอ ต.ศรีบรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส/ท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ บ้านผาแดง ต.สบโขง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่/รางวัลอินทิรา คานธี บ้านพะกะเช ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่/บ้านปิล๊อคคี่ ต.ปิล๊อค อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี/บ้านป่าหมาก ต.ศาลาลัย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์/บ้านห้วยกุ๊ก ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย/ม.ร.ว.เฉลิมลักษณ์ จันทรเสน บ้านเลอตอ ต.แม่ตื่น อ.แม่ระมาด จ.ตาก และบ้านลีนานนท์ ต.สุคิริน อ.สุคิริน จ.นราธิวาส
สำหรับแผนงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของ ทีโอที สอดคล้องและรองรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ (Digital Economy) ในการวางโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อเครือข่ายสู่พื้นที่ห่างไกลและลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิตอล เป็นเครื่องมือในการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งและสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ โดยการดำเนินงานด้าน CSR ประกอบด้วย 3 ด้านหลัก คือ ด้านบริการโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกล โดยกิจกรรมโครงการที่ ทีโอที ดำเนินการอยู่ 3 โครงการใหญ่ ได้แก่ 1.โครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมหรือครูตู้ 2.โครงการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) และ 3.โครงการสุขศาลาพระราชทาน ด้านการศึกษา ทีโอที ได้เข้าไปสนับสนุนชุมชน ผ่าน 3 โครงการสำคัญคือ ได้แก่ 1.โครงการ TOT IT School 2.โครงการ TOT Young Club หรือ TYC และ 3.โครงการ ชุดนี้ ทีโอที จัดให้ และด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่โครงการ TOT Green IT ซึ่งเป็น CSR in process ที่มีการดำเนินการภายในองค์กร อาทิ การกำหนด TOR ในการจัดซื้ออุปกรณ์ไอที ต่าง ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการนำระบบ e-Document เพื่อประหยัดการใช้กระดาษ รวมถึงแนวคิดที่จะรณรงค์ในการให้ลูกค้าใช้ e-Bill เพื่อลดโลกร้อน เป็นต้น
โทรศัพท์ 0 2574 9944 โทรสาร 02574 9541