การประกวดภาพยนตร์สั้น 90 วินาทีในครั้งนี้ แบ่งเป็นสองประเภท คือ ระดับอุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป ดำเนินการตัดสินโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญรวม 5 ท่านได้แก่ คุณบัณฑิต ทองดี คุณคงเดช จาตุรันต์รัศมี คุณคมกริช ตรีวิมล คุณกิตติ เชี่ยววงศ์กุล และคุณอาร์ม ทิพยจันทร์ ซึ่งผลงานที่ผ่านการประกวดเข้าชิงชัยรางวัลต่าง ๆ ในปีนี้ ต่างมีความโดดเด่นและหลากหลายไม่ว่าจะเป็นพล็อตเรื่อง แนวคิดการนำเสนอ การผลิตงานโปรดักชั่นในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การสร้างงานจากภาพนิ่งตัดต่อให้เป็นภาพเคลื่อนไหว (Stop Motion) การผลิตงานในรูปแบบแอนิเมชั่น เป็นต้น ภาพยนตร์หลายเรื่องต่างสอดแทรกความรู้สึกซาบซึ้ง ขณะที่บางเรื่องได้สะท้อนอารมณ์ขันที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ สุดท้าย ผู้ที่สามารถชิงชัยรางวัลภาพยนตร์สั้นชนะเลิศระดับประชาชนทั่วไป ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง “มนุษย์ต่างด้าว” โดยคุณอนิรุทธ เตชปุถมะ ส่วนภาพยนตร์สั้นที่ชนะเลิศระดับอุดมศึกษา ตกเป็นของภาพยนตร์เรื่อง “คุณสยาม” โดยทีมดีดี โปรดักชั่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
รางวัลชนะเลิศระดับประชาชนทั่วไป “มนุษย์ต่างด้าว” เป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่น เพื่อเข้าถึงคนไทยทุกกลุ่ม สอดแทรกความเพลิดเพลินเมื่อรับชม ดำเนินเรื่องโดย ยอดมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวแทนคนไทย และมนุษย์ต่างดาวซึ่งสื่อถึงผู้มาเยือนหรือคนต่างด้าว
คุณอนิรุทธ เตชปุถมะ คนต้นเรื่อง “มนุษย์ต่างด้าว” เล่าถึงแนวคิดหลักในการนำเสนอว่า “ไม่ว่าคุณเป็นใคร มาพัฒนาชาติไทยด้วยกัน” โดยสื่อข้อความนี้อย่างชัดเจนในประโยคปิดท้าย ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก “เพลงสยามเมืองยิ้ม” ระหว่างนั่งตีโจทย์การประกวดครั้งนี้ ซึ่งเขาบอกว่า “ค่อนข้างหินมาก คำว่า ขอบคุณประเทศไทย เราตีโจทย์ไม่ออก”
จากเนื้อเพลงที่ว่า “จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นไทย มิเป็นทาสใคร แหละมีน้ำใจล้นปริ่มทั่วโลกกล่าวขาน ขนานนาม ให้ว่าสยามเมืองยิ้ม…” ได้ถูกแปลงมาสู่ตัวละครแอนิเมชั่นหลัก 3 ตัว ที่สื่อถึงความมีน้ำใจ ความอุดมสมบูรณ์ของเมืองไทย การได้รับความชื่นชมจากผู้มาเยือนฝ่ายดี ขณะที่ผู้มาเยือนซึ่งมีเจตนาคุกคามประเทศไทยต้องถูกขับไล่ออกไปในที่สุด และเนื่องจากเนื้อหามีส่วนพ้องกับสถานการณ์ความแตกแยกช่วงที่ผ่านมา ยอดมนุษย์ซึ่งเป็นตัวแทนคนไทยและผู้ปกป้องประเทศ จึงมีสีสันและองค์ประกอบแตกต่างกันในแต่ละส่วน ซึ่งสะท้อนการเป็นประเทศที่ยอมรับความหลากหลายเข้ามาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวของไทย
สำหรับภาพยนตร์รางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษา ได้แก่ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “คุณสยาม” โดยทีมดีดี โปรดักชั่น จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเลือกเปิดเรื่องด้วยคำถามว่า “ประเทศไทย คำๆนี้ทำให้คุณนึกถึงอะไร” เป็นการสะท้อนความโดดเด่นด้านวิธีคิดของกลุ่มเด็กนักศึกษารุ่นใหม่จากสาขาวิชาภาพยนตร์ คณะนิเทศศาสตร์ ที่อยาก “สื่อสาร” ให้ทุกคนเห็นความสำคัญที่ว่า ทำไมคนไทยทุกคนจึงควรรัก และสำนึกขอบคุณประเทศไทย
พสุพงศ์ เพ็ชรฉกรรจ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หนึ่งในทีมเจ้าของผลงาน ขยายความเพิ่มเติมว่า “คุณสยาม” คือชื่อที่เราเรียกประเทศไทยของเรา เพราะคำว่า “คุณ” เป็นคำที่แสดงถึงความเคารพและการให้เกียรติชาติไทยของเรา และคำว่า “คุณ” นี้เอง ยังซ่อนความนัยเอาไว้หลายอย่าง อาทิ “คุณ” ค่าของความเป็นไทยที่เราควรตระหนักรู้ และควรรักษาสืบทอดไว้สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน และ ขอบ “คุณ” ประเทศไทยที่มีพระราชาผู้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถ
“พวกเราเลือกชื่อ “คุณสยาม” เป็นชื่อผลงานหนังสั้นเพื่อเข้าประกวด เพราะอยากย้ำให้เห็นว่า บุญคุณของประเทศไทยที่มีต่อเราคนไทยทุกคน ก็คือ บุญคุณของประเทศสยามนั่นเอง และอีกมุมหนึ่งถือเป็นการให้เกียรติประเทศของเราโดยเรียกว่า “คุณสยาม” นั่นเอง พวกเราต้องการ “ขอบคุณประเทศไทย” จากใจจริงด้วยการทำสื่อที่สะท้อนมุมมองให้สังคมได้รับรู้ว่า ประเทศเรามีดีอะไรโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่อยากส่งสารออกไปถึงเป็นพิเศษ คือ เด็ก วัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ ที่ทุกวันนี้หลายคนไปคลั่งไคล้กับวัฒนธรรมต่างประเทศ จนบางครั้งอาจลืมไปว่า ประเทศไทยได้ให้อะไรกับเรามาบ้าง”
พสุพงศ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างน้อยถ้ากลุ่มวัยรุ่นได้ดูหนังสั้นเรื่องนี้สักร้อยคน อาจสร้างผลกระทบได้ 60-70% ที่ช่วยให้เขาตระหนักถึงสยามประเทศของเรา รวมทั้งยังคาดหวังให้มีผู้นำคลิปเรื่องคุณสยามที่มีการแบ่งปันผ่านยูทูบและโซเชียลเน็ตเวิร์คไปเผยแพร่ หรือใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้นักเรียนมัธยมนักศึกษาในอนาคต
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีผลงานการประกวดที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประชาชนทั่วไป จากภาพยนตร์เรื่อง “ไทย” โดยด็อกทีม ซึ่งนำเสนอโดยใช้ภาพวาดลายเส้นง่ายๆ บอกเล่าประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรไทยมาแต่ครั้งสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละยุคแต่ละช่วงเวลาต้องเผชิญความท้าทายนานับประการ ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคปัญหาที่ส่งผลกระทบต่ออธิปไตยของประเทศ การเสริมสร้างความอยู่ดีมีสุขของคนไทย แต่ท้ายที่สุด ประเทศไทยก็สามารถข้ามผ่านมาได้ทุกครั้ง ด้วยการเสียสละเลือดเนื้อของบรรพบุรุษ และสำคัญที่สุดคือ พระบุญญาธิการและความห่วงใยราษฎรของสถาบันพระมหากษัตริย์
คุณดิษพงศ์ วงศ์อร่าม จากด็อกทีม เจ้าของผลงานเรื่อง “ไทย” เลือกใช้ความถนัดในการใช้เมจิกสร้างภาพลายเส้นทีละเฟรม (Stop Motion) นำมาฉายต่อเนื่องกันจนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหว (Motion) เพื่อให้เกิดเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่ดูแล้วเข้าใจได้ง่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กๆ ซึ่งโดยธรรมชาติจะมีความชื่นชอบศิลปะ ให้สามารถเข้าใจเรื่องราวที่ผูกเป็นประวัติศาสตร์ที่ได้ทั้งความรู้ ความสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ และเกิดความสำนึกในบุญคุณประเทศไทยในที่สุด
“แนวคิดการนำเสนอเกิดจากความรู้สึก “รักเมืองไทย และสำนึกในคุณแผ่นดิน” ประกอบกับโดยส่วนตัว เป็นคนรักการอ่านเรื่องราวในประวัติศาสตร์ชาติไทยอยู่แล้ว และอยากนำเสนอออกมาเป็นภาพ ดังนั้น โครงการนี้จึงเท่ากับเป็นการมอบเวทีให้เขาและเพื่อนร่วมทีมซึ่งมีหัวใจเดียวกันได้มีโอกาสแสดงออก” คุณดิษพงศ์ กล่าว
ไม่ต่างจากผลงานภาพยนตร์สั้นเรื่อง น้องธีร์ โดยทีมเบรน เรนเจอร์ ที่แม้จะได้รับรางวัลชมเชย แต่ก็สร้างความประทับใจได้ไม่น้อยจากการที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเลือกที่จะนำเสนอความสุขและการแสดงความขอบคุณประเทศไทย ผ่านความรู้สึกที่แท้จริงในหัวใจของเด็กชายวัย 15 ปี ผู้พิการทางสายตาแต่กำเนิดที่ประกาศเสียงดังฟังชัดด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขว่า “ขนาดผมมองไม่เห็นนะครับ ผมยังมีความสุขขนาดนี้เลย ถ้าผมมองเห็นนะ จะสุขขนาดไหนครับเนี่ย”
คุณณรงค์ชัย ประทุมสุวรรณ กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานด้านครีเอทีฟ มักคิดมุมกลับจากคนทั่วไป เมื่อได้รับโจทย์เรื่อง ความสุข จึงคิดถึงสิ่งที่ตรงข้ามคือ ความทุกข์ และผู้พิการคือหนึ่งในผู้ที่มีความทุกข์ แต่เมื่อได้รู้จักน้องธีร์จากการทำโครงการเพื่อหารายได้ให้กับมูลนิธิตาบอด กลับพบว่าเป็นเด็กร่าเริงและคิดบวก จึงตัดสินใจเลือกนำเสนอคนไทยตัวเล็กๆ ในสังคมอย่างน้องธีร์ ที่รักและมีความสุขกับประเทศไทยจากการรับรู้สิ่งละอันพันละน้อยด้วยหัวใจและปลายนิ้วสัมผัส ซึ่งทำให้ดวงตาที่บอดสนิทไม่ใช่ปัญหาในการเปิดรับความสุขจากสิ่งรอบ ๆ ตัว และนั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เขาอยากขอบคุณประเทศไทยและคนไทยทุก ๆ คน
“ภาพยนตร์ของผมแทบไม่ได้ใช้เทคนิคการถ่ายหนังหรือการแสดงเลย แต่เป็นการถ่ายเก็บเป็นฟุตเทจในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ตลาดน้ำ เป็นการเก็บภาพที่อยู่ในชีวิตจริงแล้วนำมาตัดต่อ ผมพบว่า เมืองไทยเรามีมุมน่ารักนะ สวยงาม มีอาหารอร่อย ขนมดี ผลไม้เยอะ ความสุขมันเยอะ และแทบทุกถ้อยคำที่น้องธีร์สื่อสารออกมาสู่ผู้ชม ก็คือ ความรู้สึกของเขาจริงๆ โดยไม่ได้มาจากบทพูดที่เรากำหนดให้เลย”
สามารถรับชมผลงานภาพยนตร์สั้นในโครงการปลุกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน “ขอบคุณประเทศไทย” ได้ที่
ภาพยนตร์สั้นรางวัลชนะเลิศประเภทประชาชนทั่วไป เรื่อง “มนุษย์ต่างด้าว”
https://www.facebook.com/video.php?v=560251507443731&theater)ภาพยนตร์สั้นรางวัลชนะเลิศประเภทอุดมศึกษา เรื่อง “คุณสยาม”
https://www.facebook.com/189274724541413/videos/vb.189274724541413/560261037442778/?type=2&theaterภาพยนตร์สั้นรองอันดับ 1 ประเภทประชาชนทั่วไป เรื่อง “ไทย”
https://www.facebook.com/189274724541413/videos/vb.189274724541413/559323870869828/?type=2&theater) ภาพยนตร์สั้นรางวัลชมเชย เรื่อง “น้องธีร์”
https://www.facebook.com/189274724541413/videos/vb.189274724541413/556307911171424/?type=2&theater)ผลงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ และรางวัลชมเชยอื่น ๆ
www.thailandwakeup.com และhttps://www.facebook.com/pages/Thailandwakeup/189274724541413