นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมทั้งยังเป็นสาเหตุของการลดความเชื่อมั่นในการค้าขายหรือส่งออกของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องตระหนักมากที่สุดคือหลักมนุษยธรรมที่ทำให้ภาพรวมของประเทศเสียหาย ทั้งในด้านสังคม ความรุนแรง และอื่นๆตามมา ทั้งนี้ ประเทศไทยได้พยายามดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องทุกมิติ ตามหลักมาตรฐานสากลที่เรียกว่า ๕P ทั้งในเรื่องของนโยบายและการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ การดำเนินคดีและการบังคับใช้กฎหมาย การคุ้มครองช่วยเหลือ การป้องกัน และความร่วมมือกับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เห็นชอบกำหนดให้ “วันที่ ๕ มิถุนายนของทุกปี เป็นวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์”และเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๑ รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดงานรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เป็นต้นมา เพื่อรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและสาธารณชนได้รับทราบและตระหนักถึงภัยของการค้ามนุษย์ รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์
นายวิเชียร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี ๒๕๕๘ นี้ เป็นการเชิญชวนให้ทุกภาคส่วน ได้รวมพลังเพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยมีการมอบโล่และเงินรางวัลแก่ผู้ปฏิบัติงานที่มีผลงานดีเด่นด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่มีความตั้งใจ อุตสาหะ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เยาวชน โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ ๕๐๐ คน ประกอบด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั้ง ๗๗ จังหวัด ผู้แทนองค์กรเอกชน นักวิชาการ องค์การระหว่างประเทศ สหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ ประจำประเทศไทย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ รวมถึงตัวแทนเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชน ๗๗ จังหวัดทั่วประเทศ และสื่อมวลชน
“นอกจากนี้ สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้ผลักดันและประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ๒) พุทธศักราช ๒๕๕๘ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ นั้น การจัดงานครั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้จัดกิจกรรมเสวนา เรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ : ความคาดหวังและข้อท้าทาย” เพื่อนำเสนอให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว และแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับพระราชบัญญัติ รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือกับภาคผู้ประกอบการและภาคเอกชน ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญต่อการดำเนินงานต่อต้านการค้ามนุษย์อีกด้วย” นายวิเชียร กล่าวท้าย