นายอลัน แคม รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด (บลจ.กรุงศรี) เปิดเผยว่า “กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ(FIF) ภายใต้การบริการจัดการของบริษัทได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ลงทุน ส่งผลให้บริษัทมีทรัพย์สินสุทธิของกองทุน FIF ภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมียอดเงินลงทุนเพิ่มสุทธิในกลุ่มกองทุนต่างประเทศ สูงเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรม มูลค่ากว่า 5,703 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 26.71% ของอุตสาหกรรม (ที่มา : บลจ.กรุงศรี ณ วันที่ 30 เม.ย. 58) ทั้งนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะออกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศเพิ่มอีกโดยเฉพาะในส่วนของตลาดเอเชีย เนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจและเป็นการเพิ่มทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงการลงทุนให้กับผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี”
“ปัจจัยที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในการเสนอขายกองทุน FIF มาจากมุมมองการลงทุนของทีมผู้จัดการกองทุน ที่มองเห็นศักยภาพของการทำกำไรที่โดดเด่นของบางกลุ่มอุตสาหกรรม หรือสินทรัพย์ในบางภูมิภาค ประเมินได้ว่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการจัดสรรเงินลงทุน เราจึงเป็นหนึ่งในผู้นำในการเปิดขาย FIF กองทุนใหม่ๆ ในตลาด และทีมผู้จัดการกองทุนยังให้ความสำคัญกับการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อคัดสรรกองทุนหลักที่มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ทำให้กองทุนของเรามีผลการดำเนินงานที่ดี เช่น กองทุนKF-HEALTHD ที่มีนโยบายจ่ายปันผลก็สามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ลงทุนได้ 2 ครั้งแล้ว รวม 1.15 บาท* จากวันจัดตั้งกองทุนในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เรายังมี FIF ที่ลงทุนในกองทุนหลักของบริษัทจัดการลงทุนระดับโลกหลายแห่ง เช่น JPMorgan, Allianz Global Investors, Franklin Templeton Eastspring, First Stage Investments, Schroder เป็นต้น”
“ล่าสุดกองทุนเปิดกรุงศรีเอเชียนอินคัมเฮดจ์ (KF-AINCOME) ที่เน้นลงทุนในกองทุนหลัก Schroder Asian Income Fund สามารถระดมเงินลงทุนได้กว่า 2,370 ล้านบาทในช่วงการเสนอขายครั้งแรก เมื่อรวมกับกองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลอินคัม (KF-INCOME) ที่ลงทุนในกองทุนหลัก JP Morgan Global Income ซึ่งเราเปิดขายเป็นรายแรกมาก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าเรามี AUM ในกองทุนที่ออกแบบมาสำหรับผู้ที่ต้องการรับกระเสเงินสดสม่ำเสมอมากกว่า 8,300 ล้านบาท (ที่มา : บลจ.กรุงศรี ณ วันที่ 29 พ.ค. 58) แสดงว่าเราคาดการณ์ความต้องการของผู้ลงทุนได้ถูกต้อง กองทุนจึงได้รับการตอบรับที่ดีมาก หรืออย่าง กองทุนเปิดกรุงศรีเกรทเทอร์ไชน่าอิควีตี้เฮดจ์ปันผล (KF-HCHINAD) ที่เน้นลงทุนในกองทุนหลัก First State Greater China Growth Fund ก็สามารถระดมเงินลงทุนได้เต็มมูลค่าโครงการภายในระยะเวลา 2 วันแรกที่เปิดเสนอขาย”
นายอลัน แคม กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราแนะนำเสมอว่าการจัดสรรเงินลงทุน และการกระจายความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้ผู้ลงทุนมองเห็นว่าตลาดหุ้นไทยมีความผันผวน และตลาดตราสารหนี้ไทยให้ผลตอบแทนลดลง ดังนั้น กองทุน FIF จึงเป็นทางเลือกที่ดี อีกทั้ง การที่กลุ่มกองทุน FIF ของบริษัทมียอดเงินลงทุนเพิ่มสุทธิกว่า 5,703 ล้านบาท ก็สอดคล้องกับความเชื่อของเราว่าลูกค้ามีความเข้าใจในการกระจายความเสี่ยง ตลอดจนตระหนักถึงโอกาสการลงทุนในต่างประเทศและมีความรู้เรื่องการลงทุนมากขึ้น เลยให้ความสนใจกับการจัดสรรเงินไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศภายใต้การบริหารจัดการของเรามากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีและแสดงให้เห็นว่าผู้ลงทุนมีการวางแผนการลงทุนที่ดี มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนจากทุกสภาวะเศรษฐกิจ”
ผู้สนใจลงทุนสามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร.02-657-5757 หรือติดต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา
หมายเหตุ:
*ประวัติจ่ายปันผลกองทุน KF-HEALTHD ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนในปี 2557 (หน่วย: บาท) ปี 2557=0.40 / 2558=0.75
คำเตือน:
1. การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
2. ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
3. กองทุน KF-HCHINAD, KF-HJAPAND, KF-AINCOME, KF-INCOME และ KF-HEALTHD มีการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก กองทุนจึงมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และ/ หรือการเมืองในประเทศซึ่งกองทุนหลักได้ลงทุน
4. การจ่ายผลตอบแทนของกองทุน ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุนหลัก และดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ซึ่งอาจมีโอกาสที่นักลงทุนจะไม่ได้รับผลตอบแทนรายเดือนในบางช่วงเวลา สำหรับกองทุนที่มีการจ่ายผลตอบแทนรายเดือน ได้แก่ กองทุน KF-INCOME และ KF-AINCOME
4. กองทุน KF-INCOME และ KF-AINCOME อาจลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) หรือไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bond) ในอัตราส่วนที่มากกว่าอัตราส่วนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป กองทุนจึงอาจมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ความเสี่ยงด้านเครดิต และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องมากกว่ากองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป
5. กองทุน KF-HCHINAD KF-HJAPAND และ KF-AINCOME จะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในหลักทรัพย์สินในสกุลเงินตราต่างประเทศที่กองทุนถืออยู่ เทียบกับสกุลเงินบาท ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งอาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยง โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
6. กองทุน KF-INCOME, และ KF-HEALTHD จะไม่ใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงิน จึงอาจมีความเสี่ยงสูงจากอัตราแลกเปลี่ยน/ หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนแรกเริ่มได้ ในอนาคต กองทุนอาจทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทจัดการ ซึ่งอาจมีต้นทุนสำหรับการทำธุรกรรมฯ โดยทำให้ผลตอบแทนของกองทุนโดยรวมลดลงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
7. กองทุน KF-INCOME และ KF-AINCOME คือกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยและผู้มีเงินลงทุนสูงเท่านั้น