นายอนาวิล จิรธรรมศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ CHOWผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กแท่งยาว (Steel Billet) รายใหญ่ของประเทศที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และธุรกิจพลังงานทดแทนประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของแผนการขยายธุรกิจพลังงานทดแทนประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 3/2558เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 มีมติอนุมัติให้ บริษัท เชาว์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (CI) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศฟิลิปปินส์ มีขนาดโครงการประมาณ 25 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าโครงการไม่เกิน1,500 ล้านบาท และอนุมัติแต่งตั้ง บริษัท พรีเมียร์ โซลูชั่น จำกัด (PSCL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยเป็นผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวให้แก่ CI
“การลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่สองต่อจากประเทศญี่ปุ่นเพราะเห็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอย่างชัดเจน ทั้งจากการสนับสนุนของรัฐบาล และการส่งเสริมการลงทุนทางด้านนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ ประกอบกับเราได้ศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนในตลาดนี้มาพอสมควร ทั้งด้านพันธมิตร ทีมงาน และบุคลากรต่างๆ จึงทำให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว” นายอนาวิล กล่าว
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศฟิลิปปินส์ ขนาด 25 เมกะวัตต์ ทางบริษัท พรีเมียร์ โซลูชั่น จำกัด จะดำเนินการพัฒนาผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท พรีเมียร์ โซลูชั่น ฟิลิปปินส์ จำกัด (“PSPH”)โดยการพัฒนาโครงการอย่างครบวงจรทั้งการจัดหาที่ดิน ใบอนุญาตต่างๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายไฟฟ้า แผงพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ และการก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้สามารถพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตามที่บริษัท เชาว์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โครงการนี้ มีใบอนุญาตขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่การไฟฟ้าฯ ของประเทศฟิลิปินส์เรียบร้อยแล้ว ที่ราคา 8.69 เปโซต่อหน่วย (อัตราแลกเปลี่ยน 0.7515 บาท/เปโซ) เป็นเวลา 25 ปี ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่.ไตรมาส 2/2015 และแล้วเสร็จในไตรมาส 1/2016
นายอนาวิลกล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในฟิลิปปินส์ บริษัทฯ ได้ศึกษาแผนการลงทุนไว้ในพลังงานทดแทนหลายประเภท ซึ่งคาดว่าจะเห็นรูปแบบการลงทุนที่ชัดเจนได้ในเร็วๆ นี้ ควบคู่กับการขยายการลงทุนในญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดเดิม เนื่องจากตลาดยังมีศักยภาพในการเติบโต ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศญี่ปุ่นใน 3 รูปแบบ คือลงทุนด้วยตัวเองผ่านบริษัทย่อย โดยเริ่มเฟสแรกที่ขนาด 18 เมกะวัตต์ดั ปัจจุบันจ่ายไฟในเชิงพาณิชย์แล้วกว่า 7 เมกะวัตต์ที่เหลืออีกกว่า 10 เมกะวัตต์คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟได้ภายในปีนี้ ส่วนรูปแบบที่สองพัฒนาโครงการเพื่อขายให้กับพันธมิตร ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาโครงการรวมทั้งสิ้น 87 เมกะวัตต์ และลงทุนร่วมกันพันธมิตรจำนวน 40 เมกะวัตต์ และในปีนี้มีนโยบายจะขยายการลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนด้วยตัวเองในเฟส 2 หลังจากที่เฟสแรกเริ่มรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟแล้ว