นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า จากรายงานการ จัดอันดับ Doing Business 2015 ของ World Bank ที่ได้สำรวจการจัดตั้งธุรกิจจาก 189 ประเทศ โดยจัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ของประเทศที่ ‘ง่าย’ ต่อการประกอบธุรกิจ และอันดับที่ 75 ในด้านการ ‘เริ่มต้น’ ธุรกิจ ลดลงจากเดิมลำดับที่ 68 ในปี 2014 โดยใช้ตัวชี้วัด 4 ด้านคือ 1) การจองชื่อบริษัท 1 วัน 2) การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร 1 วัน 3) การจัดทำตรายาง 4 วัน และ 4) การจดทะเบียนจัดตั้ง การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่บัญชีนายจ้าง และการยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงาน 21 วัน รวมแล้วใช้เวลาทั้งสิ้น 27.5 วัน
“จากการหารือร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กพร. และสำนักงานกฎหมาย เมื่อ 26 พ.ค. 58 มีความเห็นร่วมกันว่า การจัดอันดับดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากการสำรวจของ World Bank ได้นำขั้นตอนการยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงานมาเป็นส่วนหนึ่งของการจดทะเบียนเริ่มต้น โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาดำเนินงานถึง 21 วัน ทั้งที่ขั้นตอนดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นธุรกิจแต่อย่างใด เป็นเพียงขั้นตอนหลังจากการจัดตั้งนิติบุคคล ซึ่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดให้นิติบุคคลต้องแจ้งเมื่อมีลูกจ้างเกิน 10 คนขึ้นไป โดยต้องประกาศสภาพการจ้างงานให้ลูกจ้างได้ทราบภายใน 15 วัน และส่งสำเนาแจ้ง ไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายใน 7 วัน โดยให้มีผลใช้ทันทีเมื่อประกาศ ไม่ต้องรอการอนุมัติหรือเห็นชอบจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แต่อย่างไรก็ตามหากในข้อบังคับการทำงานมีเนื้อหาที่ขัดกับกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประเทศ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะแจ้งไปยังนายจ้างให้ดำเนินการแก้ไขต่อไป สำหรับธุรกิจที่จัดตั้งใหม่และยังมีลูกจ้างไม่ถึง 10 คน ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในส่วนนี้”
นับตั้งแต่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าตกลงร่วมกันกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเปิดให้ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถยื่นเอกสารข้อบังคับการทำงานพร้อมกับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีนิติบุคคลรายใดยื่นข้อบังคับการทำงานมาที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ใช้วิธีการยื่นต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้โดยตรง และขอย้ำว่าเป็นการยื่นหลังจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อมีการจ้างงานครบ 10 คนแล้ว