สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นการติดตั้งฝายพับได้ (Flap Gate Weir) โดยใช้บานเหล็กขนาด 1.00*17.18 ม. จำนวน 4 บาน บริเวณสันฝายของ Spillway ซึ่งจะสามารถกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอีก 47 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นปริมาณน้ำกักเก็บรวม 295 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าการดำเนินงานแล้วเสร็จกว่า 80% โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่การเกษตรและการอุตสาหกรรม รวมถึงป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มได้อีกด้วย ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาอุทกภัยที่บริเวณท้ายน้ำ และชุมชนกว่า 5 แสนครัวเรือน ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภค ทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำจากอ่างประแสร์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสร้างเสถียรภาพให้กับแหล่งน้ำภาคตะวันออก ทั้งในพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี โดยในอนาคตพื้นที่เกษตรกรรมจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 80,000 ไร่
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภาคตะวันออกของกรมชลประทาน มีทั้งหมด 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต(เกษตรและอุตสาหกรรม) มีเป้าหมายในการจัดหาแหล่งน้ำให้ได้ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2569 โดยในพื้นที่เกษตรน้ำฝนจะบูรณาการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมพัฒนาที่ดิน ในการสนับสนุนแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน 2. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย มีเป้าหมายเพื่อจัดทำระบบระบายน้ำ คลองผันน้ำในพื้นที่วิกฤตภาคตะวันออก ได้แก่ เมืองจันทบุรี ปราจีนบุรี และชลบุรี รวมทั้งรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ 3. ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เน้นการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้รับงบประมาณ จำนวน 2,217 ล้านบาท สำหรับดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำในภาคตะวันออกทั้งหมด 591 โครงการ ซึ่งมีโครงการประเภทต่าง ๆ อาทิ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำ ขุดลอกลำน้ำ สร้างฝายทดน้ำ ก่อสร้างระบบส่งน้ำชลประทาน และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 265 โครงการ สำหรับแผนการแก้ไขปัญหาที่เป็นโครงการระยะกลางและระยะยาวที่สำคัญ มีแผนพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำคลองวังโตนด เช่น อ่างเก็บน้ำวังโตนด อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ เป็นต้น ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้จะสามารถรองรับความต้องการใช้น้ำในภาคตะวันออกได้ถึง 20 ปี
ด้านนายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ได้ดำเนินงานในโครงการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ 1.งานแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยการขุดลอกหนอง งานฝายน้ำล้นและขุดลอกคลอง และงานอ่างเก็บน้ำ 2.งานพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน เป็นที่ผนวกรวมการจัดหาแหล่งน้ำต้นทุน งานระบบกระจายน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนนั้น ๆ ตลอดจนปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อการต่อยอดงานแหล่งน้ำให้มีผลสัมฤทธิ์ในการใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรมในพื้นที่โครงการ ให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่สามารถใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และ 3.งานแหล่งน้ำไร่นานอกเขตชลประทาน เป็นการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำ ในพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร เพ่อให้มีแหล่งน้ำที่เหมาะสมในการทำการเกษตร กักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ และสนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร