นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้อำนวยการมูลนิธิสุขภาพไทย เปิดเผยว่า แผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับครือข่ายภูมิปัญญาสุขภาพวิถีไท และเครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งภาคีต่างๆ ร่วมกันจัดงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ครั้งที่ 2 ขึ้น ณ อิมแพคเมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 25-28 มิ.ย. 58 ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ได้รวบรวมเรื่องน้ำพริกจากทุกภูมิภาคมาเผยแพร่ทั้งนิทรรศการ และการสาธิตการทำน้ำพริกหายากในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งน้ำพริกจากประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้สโลแกน “น้ำพริกถ้วยเก่า” เพื่อจะสื่อความหมายให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกินแบบดั้งเดิมของคนไทย แม้น้ำพริกจะพัฒนาไปในเชิงอุตสาหกรรมไปมากมาย แต่น้ำพริกในท้องถิ่นที่ยังไม่รู้จักมีอีกจำนวนมาก ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดการครั้งนี้ที่ชูเรื่องน้ำพริก เพราะเมื่อคนสนใจกินน้ำพริกจะหันกลับมากินผักได้มากขึ้น ซึ่งมีทั้งผักเคียง ผักแกล้ม เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
ผู้อำนวยการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงน้ำพริกจะมีอยู่ 2 วง วงแรกคือเครื่องปรุงในตัวน้ำพริกเอง ประกอบด้วย พริก หอม กระเทียม กะปิ และอื่นๆ ซึ่งภายในงานจะเชื่อมโยงให้เห็นว่าวัตถุดิบที่นำมาทำน้ำพริกมาจากเกษตรกรรายย่อยที่ทำเรื่องเกษตรปลอดสารพิษ วัตถุดิบเหล่านี้จะนำมาจำหน่ายภายในงานด้วย เช่นทั้งกระเทียม หอม ที่ปลูกปลอดสารไม่ใช่กระเทียมที่มาจากจีน เป็นต้น
สำหรับในวงที่ 2 ที่กว้างออกไปน้ำพริกต้องกินกับผัก จะสะท้อนความหลากหลายของพันธุกรรม หากคนไทยไม่กินน้ำพริก พื้นที่ปลูกผักที่กินกับน้ำพริกจะเปลี่ยนไปเป็นไร่ข้าวโพด สวนยาง หรือเกษตรอุตสาหกรรมอื่นๆ เมื่อเรารู้จักกินก็จะรักษาพื้นที่ปลูกผักเอาไว้ ยกตัวอย่างกรณีฟักข้าว ที่หายไปจากสังคมไทยนานแล้ว เมื่อมีงานวิจัยพบว่าพืชตัวนี้มีสารต้านมะเร็ง คนไทยก็หันมาปลูกและกินฟักข้าวมากขึ้น
“งานครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่าเราต้องต่อสู้กับเกษตรอุตสาหกรรมด้วย เพราะพันธุกรรมของพืชจะถูกเก็บไว้ที่บริษัทเท่านั้น แต่ต้องเป็นพันธุกรรมในท้องถิ่นและขยายไปได้ เช่น มะระขี้นกที่ขายในท้องตลาดมีขนาดใหญ่ ผลจากการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ต่างจากพันธุ์ดั้งเดิมที่มีขนาดเล็ก ดังนั้นหากไม่มีคนกิน พันธุ์พื้นบ้านก็จะหายไป ซึ่งเมล็ดพันธุ์มักถูกผูกขาดโดยบริษัท จึงอยากบอกเล่าว่า จากอาหารต้องเชื่อมโยงไปสู่สุขภาพและชุมชนรวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย”
ด้าน น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า คนไทยสมัยก่อนไม่ได้กินหมู เห็ด เป็ด ไก่ กันมากขนาดนี้ แต่กินข้าวกับปลาเป็นหลัก สิ่งที่ชูรสให้กับอาหาร คือ พริก น้ำพริก ทำให้กินข้าวกินผักได้มากขึ้น น้ำพริกจึงทำให้เรากินผักที่อยู่ในระบบอาหารที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะมีวัตถุดิบทั้งของเค็มของหมักดอง เมื่อกลายมาเป็นเมนูน้ำพริกก็จะช่วยให้กินกับผักในภูมิภาคนั้น น้ำพริกจึงอยู่กับความหลากหลายทั้งในระบบนิเวศและฤดูกาล จนเป็นวัฒนธรรมอาหาร เกิดสูตรน้ำพริกนับร้อยสูตร
รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวอีกว่า เมื่อวัฒนธรรมอาหารที่มาจากระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่ต้องการน้ำพริกมาช่วยชูรส ผักก็กินไม่กี่ชนิด แล้วใช้เครื่องปรุงรสอื่นมาช่วยแทน เช่น ผงปรุงรส และผงชูรส ทำให้เรากินหลากหลายน้อยลง จึงเชื่อว่าเมื่อเราส่งเสริมให้คนไทยหันมากินน้ำพริกจะทำให้คนกินผักมากขึ้น และกินได้อย่างมีความสุข เพราะน้ำพริกมีความเข้มข้นมีความเผ็ดจึงทำให้เรากินผักได้เยอะ หรือไม่ต้องกินข้าวมากก็ได้สำหรับหลายคนที่กลัวอ้วน
“วัฒนธรรมการกินอาหารของคนไทยเปลี่ยนไปไม่ทันรู้ตัว เรากินอาหารในระบบอุตสาหกรรมเราไม่รู้ว่าเป็นอะไร ผลิตในระบบอุตสาหกรรมมีฉลากบอกแต่บอกไม่หมด แม้ของกินในอดีตจะเป็นของหมักดอง แต่คนโบราณให้กินผักผักเพื่อแก้กัน โรคภัยที่เราเป็นกันในเวลานี้ยาที่มีอยู่เท่าไรก็ไม่เอาไม่อยู่ ถ้าไม่มีคนกิน ผักพื้นบ้าน ผักสมุนไพรต่างๆก็หาย หากยังมีคนกิน เกษตรกรรายเล็กรายน้อยก็ยังปลูกอยู่” รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าว
สำหรับกิจกรรมต่างๆ ในงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไทย ครั้งที่ 2 มีมากมาย อาทิ การสาธิตทำน้ำพริกของชนชาติต่างๆ ในอาเซียน ทั้งพม่า กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เครือข่ายสวนผักคนเมืองจัดโซนเรียนรู้เรื่อง “น้ำพริกพลิกเมือง” เพื่อให้ความรู้เรื่องการปลูกผักในพื้นที่จำกัด ขณะเดียวกันเครือข่ายหมอยาพื้นบ้านจะเล่าเรื่องพริกว่าเป็นยาได้อย่างไร นอกจากนี้ยังมีการออกบูทอาหารเพื่อสุขภาพกว่า 100 ร้าน และการฝึกอบรมหลักสูตรฟรีกว่า 20 หลักสูตร ท่านที่สนใจเชิญเที่ยวชมงานได้ระหว่างวันที่ 25-28 มิ.ย.2558 ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี