ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. และ ประธานกลุ่มสมาคมความมั่นคงปลอดภัยคลาวด์คอมพิวติ้งประเทศไทย หรือซีเอสเอ ประเทศไทย (CSA Thailand Chapter) กล่าวว่า นโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดิจิทัล อีโคโนมี(Digital Economy) เป็นนโยบายที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การขับเคลื่อนเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาธุรกิจการสื่อสารของประเทศไทยในอนาคต ที่จำเป็นต้องมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยมีเป้าหมาย การวางโครงสร้างที่มีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีขนาดที่พอเพียงกับการใช้งาน ในราคาที่เหมาะสม เพื่อเป็นพื้นฐานไปสู่การต่อยอดกิจกรรมการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังเป็นการสร้างความ เท่าเทียมและทั่วถึงสำหรับประชาชนทุกคนสู่การเข้าถึงโอกาสการเข้าถึงบริการของภาครัฐ และลดความเหลื่อมล้ำ ทางด้านการค้าขยายโอกาสธุรกิจ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรและสมาคมต่างๆ ที่ได้ร่วมมือกันขับเคลื่อน ดิจิทัล อีโคโนมี ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ การพัฒนาหลักสูตรทางการศึกษา การจัดฝึกอบรมพัฒนาทักษะ และร่วมกันรณรงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ให้ยืนหยัดบนเวทีโลกได้อย่างสง่างาม
นางสาวนันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรม (นว.) สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และ คณะกรรมการ กลุ่มสมาคมความมั่นคงปลอดภัยคลาวด์คอมพิวติ้งประเทศไทย (ซีเอสเอ ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการที่กระทรวงไอซีทีร่วมกับสำนักงานรัฐบาล อิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. และหน่วยงานร่วมทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรระบบรักษาความปลอดภัยคลาวด์ ประเทศไทย (Cloud Security Alliance Thailand Chapter) หรือ สมาคม ความมั่นคงปลอดภัยคลาวด์คอมพิวติ้งประเทศไทย หรือเรียกว่า ซีเอสเอ ประเทศไทย ขึ้นในปี 2556 ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยในระบบคลาวด์ของโลก(Global CSA) โดยกำหนดพันธกิจให้เป็นหน่วยงานหลักในการตั้ง ซีเอสเอ อาเซียน ฮับ (CSA ASEAN Hub) ในประเทศไทย เพื่อนำองค์ความรู้ระดับสากลในด้านการรักษาความปลอดภัยบนระบบคลาวด์ พร้อมทั้งการฝึกอบรมสร้างบุคลากร นอกจากนั้นยังดูแลเรื่องการจัดทำร่างกฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยบนคลาวด์ (Regulation Draft) ซึ่งทำให้ไทยสามารถเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดเรื่องราวต่างๆ ในระดับโลกและเป็นประโยชน์ต่อไทยในระยะยาว
ทั้งนี้กระทรวงไอซีทีได้มอบหมายให้สรอ.เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนปัจจัยต่างๆ เพื่อให้องค์กร ซีเอสเอ ประเทศไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น และจัดกิจกรรมต่างๆ โดยที่ผ่านมาได้จัดงานประชุมสัมมนาเชิงวิชาการในระดับอาเซียนสำหรับผู้บริหารและบุคลากรทางด้านระบบรักษาความปลอดภัยไอที หรือ อาเซียน ซีเอสเอ ซัมมิท (ASEAN CSA Summit) ไปแล้ว 2 ครั้ง และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงานทั้งในและต่างประเทศจำนวนกว่า 600 คน
ดังนั้นในปีนี้ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ร่วมกับสมาคมความมั่นคงปลอดภัยในระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ประเทศไทย หรือซีเอสเอ ประเทศไทย และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดงานการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการระดับอาเซียนด้านระบบรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์เป็นครั้งที่ 3 “อาเซียน ซีเอสเอ ซัมมิท 2015” (ASEAN CSA Summit 2015) ในประเทศไทย เพื่อการเตรียมความพร้อมสู่ดิจิทัล อีโคโนมี (PROVISIONING TOWARDS DIGITAL ECONOMY) ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2558 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว
“จากนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับภูมิภาค และการก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดิจิทัล อีโคโนมี ดังนั้นยุทธศาสตร์ของการรักษาความปลอดภัยบนระบบคลาวด์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ถูกยกให้เป็นนโยบายระดับชาติ พร้อมสนับสนุนให้ทุกหน่วยงาน และทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับระบบรักษาความความปลอดภัยด้านไอทีให้มากขึ้น ทั้งนี้ภัยร้ายหรือภัยคุกคามที่มาจากการใช้ระบบไอทีได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นภัยร้ายใหม่ๆ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเข้าใจและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้” นางสาวนันทวัน กล่าว
สำหรับเนื้อหาของ อาเซียน ซีเอสเอ ซัมมิท 2015 (ASEAN CSA Summit 2015) เป็นการเพิ่มเติมความรู้ทางด้านระบบความปลอดภัยบนคลาวด์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังนำเสนอโซลูชั่นด้านระบบรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ที่มีการใช้งานจริงและวิธีการแก้ไขปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารทั้งในและต่างประเทศ
โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจในวันงาน อาทิ การอภิปราย เรื่อง ดิจิทัล อินโนเวชั่น (Digital Innovation) และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในหัวข้อ “พอกันที!ระบบรักษาความปลอดภัยแบบเดิมๆ” (Fire Talk “Traditional Security; No MORE!”) ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนการจัดงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล แคท เทเลคอม หัวเว่ย ซิสโก้ ไดเมนชั่น ดาต้า เทรนด์ ไมโคร ทรู ไอดีซี ไอเน็ต วีเอ็มแวร์ และ(ไอเอสซี)2 (ISC)2
การประชุมทั้งสองวันคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุม 800 คนต่อวัน จากในประเทศไทยจำนวน 600 คน และต่างประเทศอีก 200 คน โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยระบบคลาวด์จากยุโรปและอาเซียนภายใต้โครงการ Connect2SEA รวมทั้งผู้ค้าไอทีและผู้ให้บริการคลาวด์ร่วมงาน