กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการไทยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ ผลักดันไทยเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริด

จันทร์ ๑๕ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๑๖:๓๘
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนมากได้ให้ความสนใจสอบถามเรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศภายใต้พิธีสารมาดริด (ระบบมาดริด) ว่าจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ และการจดทะเบียนภายใต้ระบบมาดริดนี้มีข้อดีอย่างไร ซึ่งกรมขอแจ้งว่าขณะนี้ขั้นตอนการปรับแก้ไขร่างกฎหมายเครื่องหมายการค้าเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดของไทยใกล้เสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนั้น จะมีการนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อที่ไทยจะสามารถเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดภายในปี 2558 เป็นไปตามแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียน โดยปัจจุบันมี 4 ประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดแล้ว คือ สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา

ข้อดีหรือประโยชน์ของการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริดของไทยมีหลายประการ ดังนี้

1. ความสะดวกในการจัดเตรียมคำขอยื่นจดเครื่องหมายการค้าของไทยในต่างประเทศ

1.1. ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมคำขอโดยผู้ประกอบการจัดเตรียมคำขอเพียง 1 คำขอสำหรับทุกประเทศที่ต้องการจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้า เมื่อเปรียบเทียบกับช่องทางปกติ การจดทะเบียนคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศจะต้องดำเนินการจัดเตรียมคำขอเป็นรายประเทศ โดยใช้แบบฟอร์มที่แต่ละประเทศได้กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดข้อยุ่งยากและเสียเวลาในการศึกษาแบบฟอร์มซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ส่วนการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าผ่านระบบมาดริดนั้น ผู้ประกอบการเพียงศึกษาทำความเข้าใจในแบบฟอร์มคำขอจดผ่านระบบมาดริดขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกที่เรียกว่า MM2 ก็สามารถขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าได้เกือบทั่วโลก (ปัจจุบันพิธีสารมาดริดมีสมาชิก 93 ประเทศ และ 1 องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาของกลุ่มประเทศในแถบแอฟริกา จึงทำให้ระบบนี้ครอบคลุมกว่า 100 ประเทศ)

1.2. การจัดเตรียมคำขอภายใต้ระบบมาดริดจะจัดทำเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจะสามารถลดภาระยุ่งยากในการจัดเตรียมคำขอเป็นภาษาท้องถิ่น แม้ว่าประเทศ ที่ต้องการขอรับความคุ้มครองจะไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการก็ตาม ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง

1.3. ในบางประเทศ การยื่นคำขอจดทะเบียนโดยตรงในประเทศนั้นๆ จะต้องมีการรับรองเอกสารโดยโนตารีพับริคหรือสถานเอกอัครราชทูต ซึ่งทำให้มีความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ระบบมาดริดจะไม่มีขั้นตอนดังกล่าว ทำให้ลดความยุ่งยากให้แก่ผู้ประกอบการได้มาก

1.4. ค่าธรรมเนียมในการยื่นคำขอจะคิดเป็นเงินสกุลเดียวสำหรับการขอรับความคุ้มครองไม่ว่าในประเทศใดก็ตาม คือ เงินสกุลสวิสฟรังค์ ดังนั้น ผู้ประกอบการไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนของเงินแต่ละสกุล และทำให้สามารถเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายได้อย่างง่ายดาย โดยสามารถคำนวณค่าธรรมเนียมที่แต่ละประเทศเรียกเก็บได้ล่วงหน้าอย่างถูกต้องแม่นยำ (โดยสามารถใช้โปรแกรมช่วยคำนวณจากเว็บไซต์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาอยู่ระหว่างจัดทำคำอธิบายและจัดทำลิงค์เชื่อมโยงกับเว็บไซต์กรม)

2. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการยื่นจดทะเบียน

2.1. การยื่นคำขอผ่านระบบมาดริดนี้ จะเสียเฉพาะค่าธรรมเนียมให้แก่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกและค่าธรรมเนียมที่แต่ละประเทศปลายทางเรียกเก็บเท่านั้น และหากผู้ประกอบการได้จ้างสำนักงานทนายความในประเทศไทยให้จัดเตรียมคำขอให้ ก็จะมีค่าบริการของสำนักงานทนายความในส่วนนี้เพิ่มอีกเท่านั้น แต่ไม่ต้องเสียค่าบริการของสำนักงานทนายความในประเทศปลายทาง เนื่องจากการยื่นคำขอผ่านระบบมาดริดนี้ ไม่จำเป็นต้องให้สำนักงานทนายความหรือตัวแทนในประเทศปลายทางยื่นคำขอให้ โดยคำขอที่ยื่นจากประเทศไทยจะถูกส่งไปยังประเทศปลายทางโดยอัตโนมัติผ่านองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ทำให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มหาศาล

3. ความสะดวกในการบริหารจัดการคำขอจดทะเบียน

3.1. เมื่อมีการยื่นจดทะเบียนในหลายประเทศผ่านระบบมาดริดแล้ว หากผู้ประกอบการต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียน เช่น เปลี่ยนที่อยู่ หรือเปลี่ยนตัวแทน ผู้ประกอบการสามารถทำได้โดยยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเพียงแห่งเดียว หรือยื่นต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ช่วยส่งคำขอนั้นต่อไปยังองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกได้ แล้วองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกจะแจ้งต่อไปยังประเทศปลายทางทุกประเทศที่ได้จดทะเบียนไว้ ให้ดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องยื่นคำขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการเป็นรายประเทศ ซึ่งทำให้การบริหารจัดการพอร์ตเครื่องหมายการค้า เป็นไปอย่างสะดวกง่ายดาย

3.2. ระบบมาดริด ยังอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถจำกัดรายการสินค้าที่ต้องการขอรับความคุ้มครองในบางประเทศได้ หรืออาจเพิกถอนรายการสินค้าทั้งหมดในบางประเทศ ก็ได้ หรืออาจเพิกถอนบางรายการสินค้าในทุกประเทศก็ได้เช่นกัน โดยยื่นคำขอต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเพียงแห่งเดียว

ผู้ประกอบการที่สนใจจะสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้จากข้อมูล ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (www.ipthailand.go.th) หรือติดต่อ โดยตรงที่สำนักงานรับ คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ ชั้น 7 กรมทรัพย์สินทางปัญญา 563 ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 โทร 0-2547-4619

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๕๙ บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) จัดงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 ครั้งที่ 53
๑๑:๒๗ TSE ติดปีก! เตรียมรับทรัพย์ขายหุ้นบ.ร่วมค้า TSR 60% มูลค่า 1.79 พันลบ. ผถห.ไฟเขียวเพิ่มทุนขาย PP 211.77
๑๑:๓๒ สงกรานต์นี้ ร่วมฉลองไปกับ One Bangkok, One Lagoon Splashing Songkran Rhythms ที่สุดของความสนุก สดชื่น
๑๑:๓๕ Xbox เตรียมจัดงาน Xbox Games Showcase พร้อมเผยอัปเดตล่าสุดจาก The Outer Worlds 2
๑๑:๐๐ '137 ดีกรี(R)' เอาใจคนรักสุขภาพเปิดตัว นมอัลมอนด์โปรตีนสูง 11 กรัม พร้อมดึง 'ชมพู่ อารยา' เป็นพรีเซนเตอร์ปีที่สอง
๑๐:๑๕ ผถห.TFG อนุมัติจ่ายเงินปันผล 0.225 บ./หุ้น รับทรัพย์ 24 เม.ย.นี้ ปักธงรายได้ปี 68 เติบโต 10-15%
๑๐:๕๙ รพ.จุฬาฯ ปลื้ม ยอดใช้งานแอป CheckPD ทะลุ 50% ชูวาระวันพาร์กินสันโลก ย้ำให้ผู้คนตระหนักรู้จักโรคพาร์กินสัน
๑๐:๐๗ ภูเขาฟ่านจิ้งซาน: สวรรค์บนยอดเขาที่นักเดินทางห้ามพลาด
๑๐:๐๐ เสริมเกราะป้องกันภัยในครอบครัว มูลนิธิศุภนิมิตฯ เปิดพื้นที่กระชับสัมพันธ์พ่อแม่-ลูก ผ่านหลักสูตรครอบครัวสุขสันต์
๑๐:๔๗ จุดเปลี่ยนนโยบายภาษีสหรัฐฯ: ภาษีทรัมป์ เขย่าโลก จับทิศทางการค้าและการปรับตัวของคริปโตในไทย