“ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มีการคัดเลือกพื้นที่ใน 13 จังหวัดที่มีความพร้อมในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตร โดยจะเริ่มนำร่องใน 4 จังหวัดแรก ได้แก่ จ.นครปฐม จ.นครศรีธรรมราช จ.บุรีรัมย์ และจ.เพชรบูรณ์ โดยพิจารณาจุดเด่นที่น่าสนใจของพื้นที่นั้นๆ ให้สามารถนำเสนอในเชิงท่องเที่ยวได้ ซึ่งจะมีการพัฒนาให้มีความพร้อมในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว โดยวางแผนเชื่อมโยงกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของก.การท่องเที่ยวฯ นอกจากจะทำให้ชุมชนมีการทำงานร่วมกัน เกิดช่องทางจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ในหลากหลายรูปแบบ เช่น ร้านอาหาร สินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ยังเป็นการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรและส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย ส่วนการดำเนินการนั้น ในระยะสั้นกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่เตรียมความพร้อมในชุมชนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวนำร่อง ซึ่งร่วมมือกับจังหวัดในการดำเนินการในระดับพื้นที่ และเตรียมวางแผนระยะกลางในการพิจารณาความพร้อมในอีก 9 จังหวัดที่เหลือ ให้มีขีดความสามารถและเข้าไปอยู่ในแผนการท่องเที่ยวดังกล่าวในอนาคตด้วย” นายวิมล กล่าว
ด้าน นายจารุเชฏฐ์ เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว กล่าวเพิ่มเติมว่า “แม้ว่าแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในบางพื้นที่ไม่ได้อยู่ใน “12 เมืองต้องห้ามพลาด” ของก.การท่องเที่ยวฯ แต่มีเส้นทางที่อยู่ระหว่างสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งใกล้กับกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ จ.สมุทรสงคราม และราชบุรี โดยได้มีการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะทำเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเกษตร ของกระทรวงเกษตรฯ และเตรียมการอบรมให้ความรู้กับชุมชนที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว โดยมีเกษตรตำบลเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวของตนเองได้” นายจารุเชฏฐ์ กล่าว