นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าว กรมประมงไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการส่งเรือตรวจการณ์ลงไปติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเรือลำดังกล่าวเป็นเรือประมงอวนล้อมจับปลากระตัก ที่มีขนาดช่องตาอวนไม่เล็กกว่า 0.6 เซนติเมตร จัดเป็นกลุ่มประเภทเครื่องมืออวนล้อมจับที่สามารถทำการประมงได้ในเวลากลางวัน ภายใต้ข้อกฎหมายที่กำหนด อาศัยอำนาจตามมาตรา 32 (2) แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำ และ เรื่อง กำหนดขนาดช่องตาอวนในการทำการประมงปลากะตัก ซึ่งมีข้อกำหนดให้ เรือประมงอวนล้อมปลากระตัก สามารถทำการประมงในทะเลบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามัน ได้ในเวลากลางวัน ซึ่งเรือประมงลำดังกล่าวมีการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีใบอนุญาตทำการประมง จึงสามารถทำการประมงได้ นอกจากนี้ยังได้มีการติดตามตรวจดูการเข้ามาทำการประมงของเรืออวนล้อมจับปลากะตักในเวลากลางวัน บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดนครศรีธรรมราช และได้ตรวจสอบข้อมูลกับศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง พบมีเรืออวนล้อมปลากระตักจากพื้นที่อื่นๆ เข้ามาทำประมงในพื้นที่ดังกล่าว จำนวน 5 ลำ ซึ่งเรือทุกลำมีเอกสารถูกต้องตรงกับความจริง
อย่างไรก็ตาม ชาวประมงในพื้นที่ยังต้องการที่จะให้มีการห้ามเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่เข้ามาทำการประมงตามแนวชายฝั่ง โดยเฉพาะระหว่างฝั่งกับพื้นที่ทะเลที่ได้มีการวางปะการังเทียม เพื่อกันพื้นที่ไว้สำหรับกลุ่มเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ซึ่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยบริหารจัดการทะเลเกาะถ้ำ กรมประมง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และแกนนำกลุ่มชาวบ้าน ในประเด็นข้อกฎหมาย และวิธีดำเนินการเพื่อการกำหนดเป็นมาตรการให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในโอกาสต่อไป แต่ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะสั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือจากกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องมืออวนล้อมจับที่ไม่มีมาตรการห้ามพื้นที่ทำการประมงตามกฎหมายนั้น ให้ออกไปทำการประมงนอกแนวชายฝั่ง เพื่อเป็นการลดปัญหาความขัดแย้งจากการทำประมง
สุดท้าย กรมประมงขอขอบคุณชาวประมงทุกคนที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีอยู่อย่างยั่งยืน...อธิบดีกรมประมง กล่าว