เช้าวันนี้ (18 มิถุนายน 2558) พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้เกียรติเยี่ยมชม โรงเรียนกำเนิดวิทย์และสถาบันวิทยสิริเมธี โครงการอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ของกลุ่ม ปตท. เพื่อถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบในปี 2558 บนพื้นที่ขนาด 900 ไร่ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง โดยกำหนดถวายภายในปลายปีนี้
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี เน้นทั้งการเรียนการสอนและการวิจัยทางด้านวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพระดับโลกขึ้นในประเทศไทย โดยโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมนั้น เน้นการพัฒนาศักยภาพรายบุคคล มีนักเรียน 18 คนต่อห้อง ทั้งหมด 4 ห้อง สอนเป็นภาษาอังกฤษ เป็นโรงเรียนประจำ และมีครูที่มีคุณภาพทั้งการสอนและวิชาการ ไม่มีค่าใช้จ่าย ในขณะที่ สถาบันวิทยสิริเมธีนั้น รับนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยจะใช้สูตร 1 :3 :5 คือ อาจารย์ 1 คน นักวิจัยหลังปริญญาเอก 3 คน และนักศึกษา 5 คน เกาะกลุ่มเรียนกันเป็นทีม 3 ปี หรือ 5 ปี ริเริ่มงานวิจัยด้านวิทยศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับ “แนวหน้า” (Frontier Research) ที่จะเน้นในการนำผลมาสู่การปฏิบัติ เปิดสอน 2 สาขาวิชา คือ สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (Institute of Energy Science and Engineering) และ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (Molecular of Energy Science and Engineering)
ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานนาม ให้ “โรงเรียนกำเนิดวิทย์” อันหมายถึงโรงเรียนที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และจะทำหน้าที่ฟูมฟักเด็กไทยให้มีความรู้ ความชำนาญ และความสันทัดทางด้านวิทยาศาสตร์ไปสู่ความเป็นเลิศ และได้พระราชทานนาม ให้สถาบันวิทยสิริเมธี ซึ่งหมายถึง สถาบันแห่งผู้รู้อันยอดเยี่ยมด้านวิทยาศาสตร์ อีกทั้งพระราชานุญาตให้อันเชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่อสถาบันอีกด้วย
ดร.ไพรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่ม ปตท. ริเริ่มในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศอย่างจริงจัง ด้วยเป้าหมายที่จะให้สถาบันแห่งนี้เป็น สถาบันการศึกษาชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก ด้วยตระหนักดีว่าการที่องค์กรและประเทศจะมีความ เจริญยั่งยืนได้นั้น ต้องมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นรากฐานที่สำคัญ