ทั้งนี้เกณฑ์ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียของ Times Higher Education Asia University Rankings ใช้เกณฑ์เดียวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก โดยมีตัวชี้วัดที่แสดงถึงคุณภาพทั้งหมด 13 ตัวชี้วัดโดยแบ่งได้เป็นกลุ่ม คือ ด้านคุณภาพการสอน 30 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพงานวิจัย 30 เปอร์เซ็นต์ งานวิจัยที่ถูกนำไปอ้างอิง 30 เปอร์เซ็นต์ ความเป็นสากล 7.5 เปอร์เซ็นต์ และรายได้จากภาคอุตสาหกรรม 2.5 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ มจธ. มีคะแนนที่โดดเด่นในด้านงานวิจัยที่ถูกนำไปอ้างอิง ที่เป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนคุณภาพงานวิจัยที่ผลิตออกมาและได้รับการยอมรับไปอ้างอิงในทางวิชาการ
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า มจธ.ได้รับการจัดอันดับในครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยจำนวนมากที่ถูกนำไปอ้างอิงทั้งในและต่างประเทศ และมีความร่วมมือใกล้ชิดกับผู้ประกอบการภาคการผลิต เรายังคงเน้นงานวิจัยที่มีคุณค่าและความหมายต่อประเทศ โดยอธิการบดี มจธ.เชื่อมั่นว่าความเข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เป็นประเทศที่พัฒนาอย่างเต็มภาคภูมิ เพื่อนำพาประเทศออกจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันภาพรวมประเทศยังมีตัวเลขบัณฑิตที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเฉลี่ยเพียงปีละ 35 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งตนเห็นว่าตัวเลขที่เหมาะสมกับประเทศไทยในขณะนี้คือ 50-55 เปอร์เซ็นต์ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มีการปรับนโยบายและยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้มีหลักสูตรที่ก้าวหน้าและเป็นที่ต้องการมากขึ้น พัฒนากลุ่มวิจัยให้เข้มแข็ง มุ่งเป้าให้มีบัณฑิตป.โทและป.เอก เพื่อทำวิจัยในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว เน้นการสร้างเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างกลไกการผลิตบัณฑิตให้เข้มแข็งโดยเร่งส่งเสริมให้ออกไปทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม