นายคุรุจิต นาครทรรพ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ว่าได้พิจารณาคัดเลือกงานวิจัยด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนกว่า 100 โครงการ ที่หน่วยงานต่างๆ เสนอขอทุนวิจัยประจำปี 2558 โดยได้จัดสรรเป็นทุนวิจัยด้านอนุรักษ์พลังงาน 14 โครงการ 76 ล้านบาท และทุนวิจัยด้านพลังงานทดแทน 10 โครงการ 44 ล้านบาท
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัยปีนี้ จะช่วยให้กระทรวงพลังงานมีข้อมูลมาสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น การจะช่วยอนุรักษ์พลังงานในกลุ่ม SMEs และภาคประชาชนให้ตรงจุดมากขึ้น โดยความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสถาบันต่างๆ รวบรวมปัญหาเชิงลึกจากพื้นที่และนำมาวิเคราะห์พิจารณาแนวทางดำเนินการให้เหมาะสมกับปัญหา รวมถึงการนำรูปแบบการอนุรักษ์พลังงานที่ใช้ได้ผลดีกับกิจการขนาดใหญ่ที่มีการรับประกันความเสี่ยงในผลประหยัดพลังงานที่คาดว่าจะได้รับหรือที่เรียกว่าบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) ไปทดลองกับ SMEs เพื่อนำร่องให้ผู้ประกอบกิจการเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจลงทุน นอกจากนั้นยังมีงานศึกษาความเหมาะสมที่จะนำรูปแบบการอนุรักษ์พลังงานที่กำหนดให้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้า เช่น 3 การไฟฟ้าของประเทศไทย จะต้องมีกิจกรรมลดการใช้พลังงานให้กับผู้บริโภคหรือลูกค้าของตนด้วย ตลอดจนงานวิจัยการประหยัดพลังงานในตู้แช่เย็นแสดงสินค้า ซึ่งปัจจุบันร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-Eleven Family-mart ฯลฯ มีมากกว่า 1 หมื่นแห่ง เท่ากับมีตู้แช่ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นตู้ มีการใช้ไฟฟ้าปีละ 257 ล้านหน่วยหรือเทียบเท่าปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าขนาด 35 เมกกะวัตต์ ถ้างานวิจัยยืนยันผลประหยัดพลังงานได้ 20-40% ก็จะได้ต่อยอดงานวิจัยไปขยายผลกับร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในชุมชนและสถานีบริการน้ำมัน ก่อให้เกิดผลการประหยัดพลังงานในภาพรวมของประเทศได้
สำหรับงานวิจัยพลังงานทดแทน เน้นการพัฒนาแนวทางการนำเศษวัสดุเหลือใช้และทิ้งในพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมาประยุกต์ใช้เป็นถ่านชีวภาพ ทั้งในรูปแบบการเข้าไปรวบรวมแล้วนำออกมาแปรรูป จัดเก็บและจัดการด้วยระบบธนาคารชีวมวล กับรูปแบบการเข้าไปจัดการในพื้นที่การเกษตรด้วยระบบผลิตถ่านชีวภาพแบบเคลื่อนที่ โดยหวังจะช่วยลดปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือตอนบน ที่กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้พลังงานจังหวัดเชียงใหม่เร่งดำเนินการศึกษาหาทางใช้ประโยชน์เศษวัสดุการเกษตรเหล่านั้นมาใช้เป็นพลังงาน ซึ่งการวิจัยโครงการนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเป็น ถ้าผลสรุปการวิจัยมีความชัดเจนว่ามีความเหมาะสมทั้งทางเทคโนโลยีและความคุ่มค่าการลงทุน ก็จะสามารถขยายไปพื้นที่ไปยังภูมิภาคอื่นๆ และยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย
“การสนับสนุนทุนวิจัยด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน เป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในสถาบันต่างๆ และภาคเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ช่วยเติมเต็มและต่อยอดให้แผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนชัดเจนมากขึ้น และในปี 2559 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเซีย 2559 หรือ SETA 2016 จะเป็นเวทีที่กระทรวงพลังงานจะนำผลงานวิจัยด้านพลังงานที่ได้รับการสนับสนุนและประสบความสำเร็จไปเผยแพร่เพื่อประโยชน์กับประเทศสมาชิกในการนำไปประยุกต์ใช้และเป็นประโยชน์กับนักวิจัยไทยที่จะได้รับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์พัฒนาให้งานวิจัยเข้มแข็งขึ้นมาก” นายคุรุจิตกล่าว