ร่างแผนทศวรรษ “ระบบบริการปฐมภูมิ” เสริมศักยภาพชุมชน

อังคาร ๒๓ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๑๑:๑๙
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (สพช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “แผนยุทธศาสตร์ทศวรรษการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิในภาพรวมของประเทศ ที่ครอบคลุมทั้งส่วนการดำเนินงานของกระทรวงฯ และส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้ต่อเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ฯ ปี 2550-2554

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบบริการสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ในภาพรวมยังพบปัญหาสำคัญๆ เช่น ด้านการเข้าถึงคุณภาพบริการ ตลอดจนระบบบริการปฐมภูมิ ในทางปฏิบัติยังพบปัญหาต่างๆ เช่น ด้านบุคลากร จึงเป็นบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงในครั้งนี้ที่ประเทศจะมียุทธศาสตร์ทศวรรษเพื่อการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิให้มีความก้าวหน้า จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน

ด้าน นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า นโยบายระบบสุขภาพที่ดีจะช่วยทำให้เกิดสมดุลระหว่างการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชนกับการให้บริการภาครัฐ ปัจจุบันประเทศไม่สามารถผลิตบุคลากรได้ทันกับสถานการณ์ปัญหาสุขภาพและความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประเด็นสำคัญคือต้องทำให้ประชาชนมีความสามารถในการดูแลตนเองให้ได้ และหนุนเสริมศักยภาพการดูแลตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้อย่างแท้จริง

สอดคล้องกับผลการระดมความคิดเห็นในกลุ่มการวิจัยและสร้างความรู้เพื่อพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ที่สะท้อนภาพระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ อันพึงประสงค์ไว้ว่า ต้องทำให้ประชาชนมีขีดความสามารถดูแลตนเอง และสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้อย่างเหมาะสม ส่วนในระดับของหน่วยบริการฯ ต้องทำหน้าที่จัดบริการคุณภาพและให้ข้อมูลกับผู้รับบริการเพื่อตัดสินใจได้ ดังนั้นประเทศที่มีระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็ง สามารถสะท้อนได้จากศักยภาพในการดูแลตนเองของชุมชน และการจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพที่ดีของประชาชน

พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค และเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (มสพช.) ได้ให้ความเห็นถึงสิ่งที่คาดหวังในการจัดระบบใหม่ไว้ว่า ประเทศไทยต้องมีนโยบายสาธารณะที่เน้นบริการสุขภาพปฐมภูมิ จัดระบบบริหารจัดการและระบบบริการที่รองรับการบริการปฐมภูมิที่พึงประสงค์ โดยมีการเชื่อมโยงระบบบริการปฐมภูมิกับระบบสุขภาพชุมชน และระบบบริการทุติยภูมิ ตติยภูมิ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อการเข้าถึงบริการแบบไร้รอยต่อและไร้พรมแดน อีกทั้งมีระบบการเงินการคลัง และระบบสนับสนุนอื่นๆ ในการจัดบริการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

อนึ่ง ประเทศไทยมีนโยบายและแผนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพเพิ่มขึ้น แต่ในด้านคุณภาพยังมีข้อจำกัดและพัฒนาไปได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากบุคลากรปฐมภูมิที่ยังไม่เพียงพอ ปัจจุบันหน่วยบริการปฐมภูมิในประเทศ มีจำนวนทั้งหมด 11,548 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นหน่วยในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ส่วนหน่วยบริการในสังกัดท้องถิ่น มีเพียง 199 แห่ง โดยหน่วยปฐมภูมิในชนบทมีจำนวนค่อนข้างเพียงพอ แต่ละแห่งสามารถดูแลประชากรได้เฉลี่ย 3-4 พันคน แต่ในส่วนเมืองและเขตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะดูแลประชากรจำนวนมากกว่าที่ 10,000 คน ขณะที่ในพื้นที่เขต กทม. ดูแลประชากรเฉลี่ยสูงถึง 40,000 คน

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มมีนโยบายพัฒนาเครือข่ายสุขภาพอำเภอ และในปี 2557 ได้มีการพัฒนาทีมหมอครอบครัว นับเป็นนโยบายที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาระบบปฐมภูมิ แต่การดำเนินการต่างๆ อยู่ในระยะเริ่มต้น จึงยังต้องการการพัฒนาประสิทธิภาพมากขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ