สศอ. แนะ SMEs เร่งปรับปรุงการผลิต ใช้ “ระบบผลิตแบบอัตโนมัติ” หนีต้นทุนค่าแรงสูง

พุธ ๒๔ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๑๗:๒๖
สศอ. เร่งระดมสมอง เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมและ SMEs ไทย ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตมาใช้ระบบแบบอัตโนมัติที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต ลดต้นทุน รับมือกับปัญหาแรงงานทั้งด้านต้นทุนและการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การปรับต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้อุตสาหกรรมไทยต้องสูญเสียสถานภาพในการแข่งขัน ทั้งการแข่งขันในประเทศ และต่างประเทศ

สศอ. จึงเห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วย "ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Manufacturing Automation System)" ในปีงบประมาณ 2558 เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ที่ส่วนใหญ่ยังอาศัยเครื่องจักรกลแบบธรรมดา มาเป็นเครื่องจักรกลที่ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ หรือคอมพิวเตอร์ หรือระบบการผลิตแบบอัตโนมัติที่ทันสมัย การปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ เข้าสู่ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถรับมือกับปัญหาด้านแรงงานทั้งด้านต้นทุนแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

ผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้น จึงควรมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและผลิตภาพของแรงงาน เช่น เพิ่มประสิทธิภาพของระบบสายพานการผลิต การบริหารจัดการ การลดต้นทุนโลจิสติกส์ ตลอดจนฝึกอบรมทักษะของแรงงานให้มีความหลากหลาย และสามารถใช้เทคโนโลยีในระดับสูงได้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับระบบและเครื่องจักรการผลิตแบบสมัยใหม่

"ระบบอัตโนมัติเข้ามีบทบาทในระบบการผลิตของสถานประกอบการขนาดใหญ่ ในอุตสาหกรรมของประเทศมาเป็นระยะเวลานานแล้ว และผู้ประกอบการ SMEs เริ่มตื่นตัวและนำระบบการผลิตแบบอัตโนมัติเข้ามาใช้บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในเทคโนโลยีระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ กลยุทธ์การเลือกใช้หรือจัดหาระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ ให้เหมาะสมกับระบวนการผลิตและความจำเป็นของสถานประกอบการ

การตัดสินใจลงทุนนำเครื่องจักรมาใช้ในโรงงานของ SMEs จำเป็นต้องพิจารณาความสามารถ ประสิทธิภาพและคุณสมบัติของเครื่องจักรว่า มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนและคลอบคลุมงานที่ต้องการด้วย" ผู้อำนวยการ สศอ.

เมื่อเร็วๆ นี้ สศอ. จึงร่วมกับ สถาบันวิทยาการ-หุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี จัดการสัมมนา "ระบบการผลิตอัตโนมัติ ทางรอดของอุตสาหกรรมไทย" ภายใต้โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ เพื่อระดมสมองหาแนวทางการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ สินค้ามีคุณภาพ และลดต้นทุนการผลิต เป็นการเสริมสร้างอุตสาหกรรมไทยให้พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สูงขึ้นต่อไป

(ข้อความบรรยายใต้ภาพ)

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา "ระบบการผลิตอัตโนมัติ ทางรอดของอุตสาหกรรมไทย" ภายใต้โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ เพื่อระดมสมองหาแนวทางการเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยด้วยการประยุกต์ใช้ระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ จัดโดย สศอ. ร่วมกับ สถาบันวิทยาการ-หุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version