สำนักงาน ป.ป.ช. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยใช้กลไกทางศาสนา

พุธ ๒๔ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๑๗:๔๗
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช. และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการรณรงค์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยใช้กลไกทางศาสนา โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรหลักในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 เพื่อเป็นกรอบทิศทางการดำเนินการป้องกันการทุจริตและปราบปรามการทุจริตของทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทย ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่สามารถส่งผลต่อการลดปัญหาการทุจริตของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม สาระสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 - 2560) ประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ ปลูกและปลุกจิตสำนึกการต่อต้านการทุจริต เน้นการปรับเปลี่ยนฐานความคิดของคนในทุกภาคส่วนในการรักษาประโยชน์สาธารณะ โดย

(๑) ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

(๒) ส่งเสริมการใช้และกำหนดบทลงโทษในประมวลจริยธรรม แก่ทุกภาคส่วน

(๓) การใช้การศึกษาและศาสนาเป็นเครื่องมือในการปลูก-ปลุก-ปรับเปลี่ยนฐานความคิด เด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่ของรัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(๔) ดูแลคุณภาพชีวิตและรายได้ของเจ้าหน้าที่ของรัฐและข้าราชการ

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ บูรณาการการทำงานของหน่วยงานในการต่อต้านการทุจริตและพัฒนาเครือข่ายในประเทศ โดย

(๑) ประสานการทำงานและบริหารระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

(๒) สร้างความเข้มแข็งการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(๓) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง

(๔) ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการพัฒนาระเบียบ หลักเกณฑ์ข้อบังคับในแต่ละหน่วยงานหลักในการต่อต้านการทุจริตให้สอดคล้องกัน

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรต่อต้านการทุจริตและเครือข่ายระหว่างประเทศ โดย

(๑) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน/องค์กรต่อต้านการทุจริตและองค์กรเอกชนในระดับนานาชาติ

(๒) ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ

(๓) สร้างความร่วมมือโดยการเข้าร่วมปฏิญญาและการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ พัฒนาระบบบริหารและเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดย

(๑) บรรจุยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

(๒) จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการป้องกันการทุจริต

(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนามาตรการและเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(๔) การเสริมระบบแจ้งเบาะแสและการคุ้มครองพยาน การเสริมสร้างศักยภาพและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขบัญหาทุจริตให้กับภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคมและประชาชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น

(๕) สร้างเสริมระบบการร้องเรียนให้กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ต่อต้านการทุจริต

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการต่อต้านการทุจริตให้กับบุคลากรทุกภาคส่วน โดย

(๑) สร้างองค์ความรู้ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยการศึกษาวิจัยและพัฒนา

(๒) พัฒนาระบบการจัดการองค์ความรู้

(๓) สร้างบุคลากรเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา สำหรับตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตรายสาขา

(๔) จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปลูกและปลุกจิตสำนึกการต่อต้านการทุจริต เน้นการปรับเปลี่ยนฐานความคิดของคนในทุกภาคส่วน มีสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ที่ต้องการส่งเสริมการเรียนรู้และปฏิบัติตามหลักคุณธรรม จริยธรรม และวินัย ตลอดจนผลักดันให้ค่านิยมเชิดชูความดี ความซื่อสัตย์สุจริตและรังเกียจการทุจริตเป็นค่านิยมร่วมของชาติ โดยมีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนของสังคมร่วมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

สำหรับการบันทึกลงนามในครั้งนี้ มีความสำคัญยิ่งต่อการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์อีกแห่งหนึ่ง ที่จะส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ และพัฒนาองค์ความรู้ด้านคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม นำสู่การปฏิบัติ และพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนด้านการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงพัฒนาความร่วมมือและสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างยั่งยืน สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ที่ 1 ซึ่งจะใช้กลไกทางการศึกษาและศาสนาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ปรับเปลี่ยนค่านิยมคนในสังคมไทย เพื่อลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่ผมและผู้บริหารทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อผลักดัน ขับเคลื่อน และบูรณาการการทำงานในทุกด้านให้เกิดผลโดยรวมที่สามารถบรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 - 2560) ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้านศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยใช้กลไกทางศาสนา กล่าวว่า ภารกิจป้องกันการทุจริต ได้ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา บุคลากรทางการศึกษา โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการประสานความร่วมมือกับองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อดำเนินการจัดทำหลักสูตรป้องกันการทุจริต การเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนด้านป้องกันการทุจริต รวมถึงรณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดขึ้น และได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งผลิตบัณฑิตทางด้านวิชาการพระพุทธศาสนา มีคุณภาพและมาตรฐานทั้งด้านความรู้ ความประพฤติปฏิบัติ มีการบริการวิชาการทางพระพุทธศาสนาแก่ชุมชนอย่างกว้างขวาง และเป็นศูนย์กลางแห่งการแสวงหาความรู้วิชาการพระพุทธศาสนา อีกทั้งมีความใกล้ชิดกับชุมชน ผู้ปกครองและได้รับการยอมรับจากผู้นำท้องถิ่น ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยใช้กลไกทางศาสนา ประกอบด้วยกลไกทางศาสนาพุทธ, คริสต์, อิสลาม, พราหมณ์, ฮินดู และศาสนาซิกต์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นดังนี้

1. โครงการจัดพิมพ์หนังสือ หลักคำสอนทางศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ "การทุจริต - คอร์รัปชัน วิกฤติชาติที่ศาสนาต้องร่วมต้าน" และหลักคำสอนทางศาสนาอิสลาม "การทุจริตกับข้อชี้ขาดทางศาสนาอิสลาม" โดยหลักคำสอนทางศาสนาอิสลาม อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้จัดทำต้นฉบับของหนังสือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนของการตรวจทานเนื้อหาที่มีความละเอียดอ่อน รวมถึงพิจารณาข้อความให้ถูกต้องสอดคล้องกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม

2. โครงการสัมมนารวมพลังผู้นำศาสนาป้องกันการทุจริต ดำเนินการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 ณ สำนักงาน ป.ป.ช. เป็นการสัมมนาฯ เพื่อร่วมเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการป้องกันการทุจริต ของแต่ละกลไกศาสนา

3. โครงการป้องกันการทุจริตตามแนวทางพระพุทธศาสนา ขับเคลื่อนโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประกอบด้วย

3.1 การจัดทำคู่มือหลักสูตรการป้องกันการทุจริตตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยการจัดทำคู่มือหลักสูตรการป้องกันการทุจริตตามแนวทางพระพุทธศาสนาอยู่ระหว่างดำเนินการ และได้ดำเนินการอบรมพระวิทยากรสอนศีลธรรม และอบรมเพิ่มศักยภาพพระวิทยากรสอนศีลธรรมป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับการใช้คู่มือหลักสูตรการใช้กลไกทางพุทธศาสนาป้องกันการทุจริต รวมจำนวน 1,200 รูป ระหว่างวันที่ 28 – 29 ธันวาคม 2557 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

3.2 การสัมมนาแนวทางขับเคลื่อนการป้องกันการทุจริตระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด กับ มจร ส่วนภูมิภาค (45 แห่ง) โดยดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการรณรงค์ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประจำจังหวัด 76 จังหวัด กับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศูนย์จังหวัด 45 แห่ง

3.3 การประกวดคำขวัญหรือสัญลักษณ์ รณรงค์ป้องกันการทุจริต และได้ดำเนินการนำสัญลักษณ์และคำขวัญรณรงค์ป้องกันการทุจริตตามแนวทางพระพุทธศาสนา ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศมาผลิตสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ไปทั่วประเทศ

3.4 การจัดทำกัณฑ์เทศน์ป้องกันการทุจริต คณะอนุกรรมการจัดทำหลักสูตร คู่มือหลักสูตร และกัณฑ์เทศน์การป้องกันการทุจริตตามแนวทางพระพุทธศาสนา ได้ดำเนินการยกร่างหลักสูตร คู่มือหลักสูตร และกัณฑ์เทศน์การป้องกันการทุจริต และได้จัดวิพากษ์หลักสูตร คู่มือหลักสูตร และกัณฑ์เทศน์การป้องกันการทุจริตขึ้นในการจัดโครงการป้องกันการทุจริตตามแนวทางพระพุทธศาสนา ขับเคลื่อนโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 28 – 29 ธันวาคม 2557 ณ หอประชุม 48 พรรษา มวก. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

3.5 การเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และแถลงข่าวในโอกาสต่างๆ

3.6 การสัมมนาเพิ่มศักยภาพผู้บริหารระดับสูง ระดับกลางและระดับต้น ของ มจรเกี่ยวกับกฎหมายป้องกันการทุจริตและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 รุ่น

3.7 การติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการในภาพรวม

4. การจัดงานเมาลิดกลางประเทศไทย โดยร่วมจัดกิจกรรมและออกบูธนิทรรศการภารกิจ ของสำนักงาน ป.ป.ช. กับการมีส่วนร่วมภาคประชาชนในการป้องกันการทุจริต พร้อมเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์เสริมสร้างค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต และป้องกันการทุจริต

ทั้งนี้ การดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยใช้กลไกทางศาสนา จะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุน และการประสานความร่วมมือด้วยดีจากผู้นำ ผู้แทนในแต่ละกลไกศาสนา ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมประชุมกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. กับ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยใช้กลไกทางศาสนานั้น จะเกิดผลเป็นรูปธรรมสามารถลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version