สำหรับการดำเนินงานในขั้นแรก กรมส่งเสริมสหกรณ์จะประสานงานไปยัง กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบคุณภาพดินว่าเหมาะสมหรือไม่ ต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินอย่างไร ใช้ปุ๋ยแบบใดจึงจะเหมาะสม ส่วนเรื่องเมล็ดพันธุ์ นิคมสหกรณ์สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ ซึ่งมีราคาถูกกว่าท้องตลาด 50 บาท ส่วนขั้นตอนการใส่ปุ๋ยจะให้ผู้จัดการฟาร์มพุดคุยกับสมาชิกทั้งหมดว่าควรจะใส่ปุ๋ยแบบใด สูตรใด ระยะเวลาไหนจึงจะเหมาะสม และเมื่อถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ก็จะมีการพูดคุยกันระหว่างผู้จัดการฟาร์มและสมาชิกว่าจะบริหารอย่างไร ซึ่งข้าวโพดที่ออกมาพร้อมกัน การเก็บเกี่ยวผลผลิตในเวลาเดียวกันนั้นจะทำให้มีปัญหาในเรื่องของราคา จึงต้องมีการจัดระบบว่าสมาชิกรายใดจะเก็บเกี่ยวและขายก่อน อีกทั้งใครจะรอขายเป็นชุดที่ 2 และชุด 3 ตามลำดับ เพื่อให้ข้าวโพดทยอยออกสู่ตลาด วิธีนี้จะทำให้ข้าวโพดราคาจะได้ไม่ตกต่ำ ซึ่งหากดำเนินการได้ตามเป้าหมาย สมาชิกจะสามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิต และรายได้เพิ่มขึ้น สินค้าได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ราคาไม่ตกต่ำ
ส่วนการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์กับสหกรณ์นั้น เบื้องต้น สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ อ.แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา มีความต้องการข้าวโพดเพื่อไปเป็นอาหารให้ไก่ไข่ ซึ่งปกติสหกรณ์แปดริ้วจะรับซื้อข้าวโพดจากที่อื่นหรือผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงได้ทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อขอซื้อข้าวโพดจากสหกรณ์แม่สอด ในราคากิโลกรัมละ 9 บาท 40 สตางค์ จำนวน 500 ตัน ซึ่งราคาที่ขายระหว่างสหกรณ์กับสหกรณ์นั้นจะถูกกว่าท้องตลาด อีกทั้งมีความสดใหม่