ทริสเรทติ้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Developing” และคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์” ที่ “AA-” แนวโน้ม “Stable”

จันทร์ ๒๙ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๐๑:๔๑
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันของ ของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "AA-" พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังยกเลิก "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Developing" หรือ "ไม่ชัดเจน" ที่ให้ไว้สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทด้วย โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่ระดับโลก รวมถึงการมีสินค้าและฐานลูกค้าที่หลากหลาย ตลอดจนตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา ในการพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงการเข้าซื้อกิจการ Bumble Bee Holdco S.C.A. (Bumble Bee) ด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งต่าง ๆ ดังกล่าวของบริษัทถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ ความเสี่ยงจากโรคระบาด ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้าและกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลก

พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังยกเลิก "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Developing" หรือ "ไม่ชัดเจน" ที่ให้ไว้สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 สืบเนื่องจากประกาศของบริษัทเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ซึ่งระบุว่าบริษัทแสดงความประสงค์จะซื้อหุ้นทั้งหมดของ Bumble Bee มูลค่ารวม 1,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและความมีประสิทธิภาพในการผลิต โดยตลาดส่งออกที่กระจายตัวและสินค้าที่หลากหลายน่าจะช่วยลดความผันผวนของกระแสรายได้ในช่วงที่ต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าและกุ้งมีความผันผวนและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากการควบรวมกิจการ Bumble Bee เป็นไปอย่างราบรื่นและส่งผลให้ความสามารถของกิจการและสถานะการเงินของทั้งกลุ่มบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากกลุ่มบริษัทมีผลประกอบการต่ำกว่าที่คาดไว้ โครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดอ่อนแอลงเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ ก่อตั้งในปี 2531 โดยตระกูลจันศิริ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก สินค้าของบริษัทครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากปลาทูน่า กุ้ง ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน อาหารสัตว์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในปี 2557 บริษัทมียอดขายจากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าคิดเป็น 44% ของยอดขายรวม กุ้งแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องมีสัดส่วนรายได้เป็นอันดับ 2 ของยอดขายรวม (24%) รองลงมาคือ อาหารสัตว์ (7%) ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรล (5%) ปลาแซลมอน (5%) และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและอื่นๆ (15%)

ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีปริมาณการผลิตปลาทูน่าประมาณ 300,000 ตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 18% ของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าทั่วโลกที่ประมาณ 1.7 ล้านตันต่อปี บริษัทมีฐานการผลิตใน 7 ประเทศซึ่งครอบคลุม 5 ทวีปทั่วโลก โดยฐานการผลิตหลักตั้งอยู่ในประเทศไทย สหรัฐอเมริกา กาน่า และซีเชลส์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีฐานการผลิตในประเทศเวียดนาม ฝรั่งเศส และปาปัวนิวกินีด้วย ในปี 2557 ตลาดหลักของบริษัทคือสหรัฐอเมริกาซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 44% ของรายได้รวม รองลงมาคือสหภาพยุโรป 29% ประเทศไทย 7% และประเทศญี่ปุ่น 7%

ในปี 2557 บริษัทซื้อกิจการของ MerAlliance SAS (MerAliance) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาแซลมอนรมควันรายใหญ่อันดับ 4 ในยุโรป และ King Oscar AS (King Oscar) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาซาร์ดีนระดับพรีเมี่ยม นอกจากนี้ บริษัทย่อยของบริษัทยังได้เข้าซื้อสินทรัพย์ของ Orion Seafood International (Orion) ซึ่งเป็นผู้จัดหาสินค้ากุ้งมังกร (ล็อบสเตอร์) รายใหญ่ของโลกด้วย ซึ่งการลงทุนดังกล่าวสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจหลักของบริษัทตลอดจนช่วยขยายตลาดและเพิ่มสินค้าใหม่ ๆ

ถึงแม้บริษัทจะเผชิญกับความผันผวนของราคาปลาทูน่าและปัญหาโรค Early Mortality Syndrome (EMS) ที่ยังคงระบาดในฟาร์มกุ้งในประเทศไทย แต่บริษัทก็มีผลประกอบการที่ดีขึ้นมากในปี 2557 จากที่ตกต่ำในปี 2556 บริษัทมีรายได้เท่ากับ 121,402 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.6% เมื่อเทียบกับปี 2556 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของธุรกิจกุ้ง ปลาแซลมอน อาหารสัตว์ และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย ปริมาณกุ้งในหลาย ๆ ประเทศซึ่งรวมถึงไทยยังคงมีจำกัดจากปัญหาโรคระบาด EMS อย่างไรก็ตาม บริษัทย่อยของบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกามีเครือข่ายในการจัดหากุ้งได้ทั่วโลก ทำให้สามารถจัดหากุ้งจากประเทศที่ปลอดโรคได้ อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 12.6% ในปี 2556 เป็น 15.7% ในปี 2557 เนื่องจากธุรกิจปลาทูน่าภายใต้ตราสินค้าของบริษัทมีอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นและธุรกิจอาหารสัตว์ที่กำไรปรับตัวดีขึ้นหลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจในปี 2557 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 5.5% ในปี 2556 เป็น 7.8% ในปี 2557 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น 37% จากปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 10,715 ล้านบาทในปี 2557 ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้น อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเท่ากับ 6.4 เท่าในปี 2557 เทียบกับระดับ 4-4.7 เท่าในช่วงปี 2554-2556 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในระดับ 17.7% ในปี 2557 เทียบกับระดับ 15.4%-24.4% ในช่วงปี 2554-2556

ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 บริษัทเผชิญกับความท้าทายในเรื่องราคาปลาทูน่าและกุ้งที่ลดลง ทั้งนี้ ราคาปลาทูน่าลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ 1,010 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันในเดือนมีนาคม 2558 ในขณะเดียวกัน ราคาเฉลี่ยของกุ้งในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 ก็เท่ากับ 192 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ลดลงจากระดับ 218 บาทต่อ กก. ในปี 2556 และ 223 บาทต่อ กก. ในปี 2557 นอกจากนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลยูโรเมื่อเทียบกับเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมากก็ส่งผลลบต่อรายได้จากบริษัทย่อยในยุโรปเมื่อแปลงค่าเงินสกุลยูโรเป็นเงินบาท รายได้ของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 อยู่ที่ระดับ 28,606 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากการที่บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปลาแซลมอน กุ้ง ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอร์เรลได้มากขึ้นแม้ปริมาณขายและราคาของสินค้าปลาทูน่าจะลดลงก็ตาม การปรับตัวลดลงของราคากุ้งทั่วโลกส่งผลให้กำไรของบริษัทลดลง โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.5% ในไตรมาสแรกของปี 2558 เทียบกับ 7.3% ในช่วงเดียวกันของปี 2557

ในเดือนธันวาคม 2557 บริษัทประกาศว่าจะซื้อหุ้นทั้งหมดของ Bumble Bee มูลค่ารวม 1,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 49,830 ล้านบาท ที่อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ) การซื้อกิจการในครั้งนี้อยู่ระหว่างการขออนุญาตการควบรวมกิจการภายใต้กฏหมายป้องกันการผูกขาดของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ คาดว่าธุรกรรมดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 การดำเนินการจัดหาเงินทุนสำหรับธุรกรรมดังกล่าวนั้น คณะกรรมการและผู้ถือหุ้นของบริษัทได้มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวนรวมไม่เกิน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 13,200 ล้านบาท) ส่วนที่เหลือจำนวน 1,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 36,630 ล้านบาท) นั้นจะจัดหาเงินทุนจากการกู้ยืมเพิ่มเติม ภายหลังจากการควบรวมกิจการ Bumble Bee อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 55% เพิ่มขึ้นจากระดับ 46.5% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีแผนการลงทุนที่ระดับ 3,500-4,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558-2560 ด้วยระดับกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 14,000-16,000 ล้านบาทต่อปีภายหลังการควบรวมกิจการในครั้งนี้ ทำให้คาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะปรับตัวสู่ระดับปรกติภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

Bumble Bee เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าปลาทูน่ารายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้นำของธุรกิจอาหารทะเลในประเทศแคนาดา การซื้อกิจการ Bumble Bee เป็นไปตามกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลภายใต้ตราสินค้าของตนเอง ความสำเร็จในการรวมกิจการในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีตราสินค้าที่ให้อัตรากำไรสูงให้แก่บริษัทมากขึ้นและช่วยเสริมสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในทวีปอเมริกาเหนือ บริษัทคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการรวมกิจการในครั้งนี้ในด้านการจัดหาวัตถุดิบ/การผลิต การประหยัดต้นทุน การร่วมกันคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตลอดจนประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

ในช่วงเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้ใบเหลืองและออกประกาศแจ้งเตือนประเทศไทยเรื่องการไม่มีมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมในการทำประมงตามหลักการสากล (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing; IUU) โดยให้เวลาประเทศไทย 6 เดือนในการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป หากปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ก็จะส่งผลให้สินค้าประมงของไทยไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้ กรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อบริษัทไม่มากนักเนื่องจากบริษัทมียอดขายสินค้าส่งออกจากประเทศไทยไปยังสหภาพยุโรปเพียงประมาณ 7% ของรายได้รวมของบริษัทเท่านั้น

บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่นส์ โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) (TUF)

อันดับเครดิตองค์กร: AA-

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

TUF167A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,950 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 AA-

TUF172A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 AA-

TUF192A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 AA-

TUF212A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-

TUF217A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 AA-

TUF242A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,050 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 AA-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย
๑๕:๓๘ MediaTek เปิดตัว Dimensity 8400 ชิป All Big Core รุ่นแรกสำหรับสมาร์ทโฟนพรีเมียม
๑๕:๕๔ เปิด 10 เทรนด์ฮิตชีวิตดิจิทัลปี 2024 ปีแห่งความหลากหลายด้านป๊อปคัลเจอร์ โดย LINE ประเทศไทย
๑๕:๒๕ สุรพงษ์ ส่งมอบความสุข ขยายเวลาให้บริการสายสีแดง ถึง ตี 2 ในคืนเคานต์ดาวน์ เป็นของขวัญปีใหม่มอบให้แก่ประชาชน
๑๕:๐๗ เอ็นไอเอคัด 8 ผู้ประกอบการไทยสายการแพทย์ - สุขภาพ คว้าโอกาสบุกตลาดเยอรมนี - ยุโรป พร้อมโชว์จุดแข็งในงาน Medica 2024 ตอกย้ำไทย
๑๕:๒๖ EGCO Group คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ AA ตอกย้ำความมั่นใจนักลงทุนต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
๑๕:๕๖ เมืองไทยประกันชีวิต จับมือ แมกซ์ โซลูชัน ส่งมอบความสุขและความอุ่นใจ ต้อนรับเทศกาลปีใหม่แก่สมาชิก Max Card ผ่าน กรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่สุขกายสุขใจ
๑๕:๔๘ แอสตร้าเซนเนก้า ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยทางคลินิกในไทย
๑๕:๓๒ ซีเอ็มเอ็มยู มุ่งผลิตบุคลากรชั้นนำผ่านนวัตกรรมการศึกษาและงานวิจัยระดับโลก พร้อมจุดประกายภาคเศรษฐกิจ - สังคม เปลี่ยนแหล่งเรียนรู้สู่ พาร์ทเนอร์การเรียนรู้