ASAHI มอบทุนวิจัย มจธ. ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

จันทร์ ๒๙ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๑๗:๕๕
ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้วที่มูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation - AF) ประเทศญี่ปุ่น ได้มอบทุนอุดหนุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยในปี 2558 นี้ มีอาจารย์และนักวิจัยของ มจธ.ได้รับมอบทุนวิจัยจากมูลนิธิฯ จำนวน 7 ท่าน ใน 7 โครงการวิจัย ประกอบด้วย ดร.สุรวุฒิ ช่วงโชติ , ดร.อมรรัตน์ แก้วประดับ , ดร.นฤมล ตันติพิษณุ , ผศ.ดร.พิชญ์ สุธีรวรรธนา , คุณอูเดย์ พิมเพิล , ผศ.ดร.บุญเสริม แก้วกำเหนิดพงษ์ และ ดร.ไตรวิทย์ รัตนโรจน์พงศ์ โดยแต่ละโครงการจะได้รับทุนอุดหนุนประมาณ 600,000 เยน ( หรือประมาณ 200,000 บาท ) รวมเป็นทุนทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านบาท โดยได้มีพิธีมอบทุนวิจัยดังกล่าวขึ้นในวันอังคารที่ 16 มิถุนายน 2558 ซึ่งงานนี้ยังคงได้รับเกียรติจาก Mr. Kazuhiko Ishimura ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี เป็นผู้มอบทุน โดยมี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี และคณะผู้บริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีให้การต้อนรับ

สำหรับในปีนี้มีโครงการวิจัยที่น่าสนใจหลายชิ้นด้วยกัน อาทิ ผศ.ดร.บุญเสริม แก้วกำเหนิดพงษ์ จากหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. หนึ่งในผู้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮีปีนี้ กล่าวว่า งานวิจัยที่กำลังศึกษาอยู่เกี่ยวกับ Educational Neuroscience ซึ่งนำความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาการทำงานของสมองในการเรียนรู้ของมนุษย์ และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษา เนื่องจากการรูปแบบการเรียนการสอนในปัจจุบันพัฒนาไปจากเดิมมาก ไม่ว่าจะเป็น Problem-Based Learning, Project-Based Learning หรือ Brain-Based Learning โดยต่างก็มีจุดมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างทักษะให้แก่ผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าวิธีการเรียนการสอนนั้น สามารถทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามจุดประสงค์ที่ตั้งไว้จริง ถ้าเราสามารถติดตามการเรียนรู้จากการทำงานของสมองของผู้เรียนได้ก็คงจะดี

"รูปแบบการเรียนการสอนทั้งเด็กเล็กเด็กโตในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก และในอนาคตอาจจะเปลี่ยนแปลงไปอีกตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เราจะรู้ได้อย่างไรว่ารูปแบบการสอนที่ใช้กันนั้นได้ผลดีอย่างแท้จริง นอกเหนือจากคำบอกเล่าของผู้ปกครองหรือตัวผู้เรียนเอง จึงคิดที่จะพัฒนาวิธีการติดตามผลจากการเรียนรู้ของสมองระหว่างที่มีการเรียนรู้ โดยใช้หลัก Neuroscience ขึ้นมา ด้วยการเก็บข้อมูลการทำงานของสมองโดยวัดสัญญาณทางไฟฟ้าของสมอง (Electroencephalography หรือ EEG) และสัญญาณการไหลเวียนของเลือดในสมองด้วย Functional near-infrared spectroscopy หรือ fNIRS เพื่อสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของการทำงานของสมองขณะที่มีการเรียนรู้ที่ดี โดยโครงการวิจัยนี้ สนใจในการเรียนรู้เชิงนัย ซึ่งผู้เรียนเรียนรู้จากตัวอย่างที่พบเห็น สรุปกฎที่เรียนรู้จากตัวอย่าง แล้วนำไปใช้เป็นความรู้ต่อไป ซึ่งเป็นลักษณะการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง"

เมื่อได้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์แล้ว ในขั้นต่อไปจะทำการทดลองในห้องเรียนจริง โดยนำเครื่องวัดสัญญาณสมองแบบพกพาติดไว้ที่ผู้เรียนขณะที่กำลังเรียนรู้ เพื่อดูลักษณะการทำงานของสมองและเปรียบเทียบกับแบบจำลองว่าสมองอยู่ในสถานะที่มีการเรียนรู้เชิงนัยที่ดีหรือไม่ และสุดท้ายทำการทดสอบด้วยวิธีการทำข้อสอบ ว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้เชิงนัยได้จริงหรือไม่ หลังจากนั้นก็จะนำผลสองส่วนมาเปรียบเทียบและวิเคราะห์ร่วมกันเพื่อดูแนวโน้มของการติดตามการเรียนรู้จากสัญญาณสมองในขณะที่มีการเรียนรู้ต่อไป ซึ่งถ้าเราสามารถติดตามการเรียนรู้จากการทำงานของสมองของผู้เรียนได้ เป้าหมายของงานวิจัยต่อไปก็คือการนำระบบติดตามการเรียนรู้นี้ไปใช้เพื่อพัฒนาวิธีการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ เหมาะสมต่อการเรียนรู้เชิงนัยได้จริง

ผศ.ดร.บุญเสริม กล่าวเสริมว่า หากงานวิจัยนี้สำเร็จคาดว่าจะเป็นประโยชน์กับส่วนรวมในหลายด้าน สำหรับผู้สอนนั้น ระบบติดตามการเรียนรู้จากการทำงานของสมองสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาวิธีการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับผู้เรียนมากขึ้นได้ สำหรับผู้เรียนที่มีลักษณะพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย วิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสมจะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานวิจัยนี้จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการศึกษาของประเทศต่อไปได้ อย่างไรก็ตามสำหรับการเรียนรู้แบบอื่น จำเป็นต้องออกแบบการทดลอง เก็บข้อมูล และสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่เหมาะสมกับการเรียนรู้แบบนั้นใหม่ทั้งหมด ไม่สามารถใช้ระบบติดตามการเรียนรู้เชิงนัยสำหรับการเรียนรู้แบบอื่นได้

อีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจเป็นของ ผศ.ดร.พิชญ์ สุธีรวรรธนา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.หนึ่งในผู้ที่ได้รับทุนครั้งนี้ได้กล่าวถึงงานวิจัยผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากโครงสร้างก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงานว่า " สาเหตุที่ต้องการศึกษาพฤติกรรมของคนในพื้นที่หรือชุมชนทั้งที่กำลังจะเกิดโครงการและโครงการที่ทำไปแล้วก็เพื่อต้องการให้รู้ถึงแนวคิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของภาครัฐในอนาคตว่าจะเกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากยิ่งขึ้นนั้น จำเป็นต้องเรียนรู้พฤติกรรมของคนทั้งด้านบวกและด้านลบเพราะที่ผ่านมามักพูดตัวโครงการว่ามีผลกระทบด้านบวกและด้านลบอะไรบ้างแต่ผลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากผลบวกและลบนั้นยังมีอะไรอีกหรือไม่ ซึ่งยังไม่มีใครทำมาก่อน"

จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยถึงพฤติกรรมของคนที่เกิดจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะด้านพลังงาน ว่าผลกระทบนั้นทำให้คนเกิดการปรับพฤติกรรมอย่างไร และมีพฤติกรรมต่อเนื่องอย่างไร อีกทั้งการวิจัยครั้งนี้ยังเป็นการต่อยอดงานวิจัยเดิมที่ได้ศึกษาและจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมไว้แล้ว 3 แบบด้วยกัน คือ ต่อต้าน , เข้าใช้ประโยชน์ และปรับปรุงโครงการเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง โดยจะนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยและสำรวจพฤติกรรมของคนในพื้นที่ 5 จังหวัดทางภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา , ชลบุรี, ระยอง , จันทบุรี และตราด เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย มีทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการค้า ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงมาก หากมีโครงการใหม่เกิดขึ้น เช่น การผลิตไฟฟ้าจากขยะ เราจะดูพฤติกรรมของคนในพื้นที่เมื่อรับรู้ถึงโครงการว่าจะเป็นอย่างไร จะเกิดผลด้านบวกอย่างไร หากเกิดผลด้านลบแล้วจะลบได้อีกหรือไม่ หรือเมื่อเกิดผลด้านลบแล้วจะกลายเป็นบวกได้หรือไม่ เพื่อให้ทราบว่าพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนั้น เพราะอะไร รวมถึงสามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บได้ไปใช้ในการคาดการณ์กับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนของโครงการที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบต่อไป

"ยกตัวอย่างเขื่อนปากมูล คนที่เดือดร้อนคืออาชีพประมง แม้รัฐจะชดเชยรายได้แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เกิดการประท้วงขอเปิดเขื่อนจนต้องหยุดใช้เขื่อนเพื่อจัดเก็บข้อมูลพันธุ์ปลาที่อยู่ในเขื่อน ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐไม่เคยมีการทำเอาไว้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว จำเป็นต้องเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาพฤติกรรมของคนในสังคมหรือชุมชนในพื้นที่ด้วย ไม่ใช้เพียงแค่สร้างเขื่อนได้ไฟฟ้าใช้แล้วจบ แต่ทำให้ทรัพยากรที่เคยเป็นของส่วนรวมหายไป หรือมีการเข้าไปฉวยโอกาสทำประโยชน์ของเอกชน เช่นกรณีที่ประเทศลาวไม่มีน้ำประปาใช้ ภาครัฐต้องกู้เงินเพื่อนำมาสร้างระบบน้ำประปา แม้จะตอบโจทย์ให้คนในเมืองมีน้ำใช้ แต่ก็เกิดธุรกิจกรอกน้ำประปาบรรจุขวดขายให้กับคนที่อยู่นอกเมือง ธุรกิจนั้นได้ประโยชน์เพราะไม่ได้เป็นผู้ลงทุนผลิตน้ำประปาเอง แต่ถึงแม้จะเป็นการฉวยโอกาสหารายได้จากโครงการของรัฐแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโครงการนั้นจะสร้างผลด้านลบอย่างเดียว แต่ก็สร้างรายได้ให้กับคนที่บรรจุน้ำขวดขายและคนนอกเมืองได้ใช้น้ำ เป็นต้น" ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕ พ.ย. ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๕ พ.ย. คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๕ พ.ย. พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๕ พ.ย. BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๕ พ.ย. บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๕ พ.ย. PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๕ พ.ย. CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๕ พ.ย. ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ