นายประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมยางยืดและยางรัดของ อุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นถุงมือตรวจโรค หรือถุงมือผ่าตัด อุตสาหกรรมผลิตรองเท้าและอุปกรณ์กีฬา อุตสาหกรรมผลิตสายพานลำเลียง เพื่อใช้งานในการลำเลียงของหนักชนิดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันยังมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ฟองน้ำ อุตสาหกรรมผลิตสื่อการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นโมเดลร่างกายมนุษย์ สัตว์ แขนเทียมสำหรับฝึกทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าเช่นกัน อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างและวิศวกรรม เช่น ยางรองคอสะพาน แผ่นยางกันน้ำซึม ยางกันชนหรือกันกระแทก ยางคั่นรอยต่อคอนกรีต บล็อกยางปูพื้น แผ่นยางปูอ่างเก็บน้ำ ฝายยาง แผ่นยางปูพื้น เป็นต้น
และอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ภาครัฐมีบทบาทสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ก็คือ การใช้ยางพาราผสมยางมะตอย สำหรับทำผิวถนน ซึ่งจากงานวิจัยและการทดลอง พบว่าถนนที่ใช้ยางพาราผสมยางมะตอย ในอัตราร้อยละ 5 มีความแข็งแรง ทนทาน และยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งยังทำให้เกิดร่องล้อน้อยกว่าการใช้ยางมะตอยเพียงอย่างเดียว ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษา แม้ต้นทุนการทำถนนจะสูงกว่าถนนยางมะตอยก็ตาม นอกจากนี้ ความปลอดภัยยังสูงกว่า เพราะลดการลื่นไถลของรถยนต์ได้ดีกว่าอีกด้วย
นายประสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากภาครัฐ โดยเฉพาะกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ตลอดจนองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีการแก้ไขกฎระเบียบให้มีการนำยางพารามาผสมยางมะตอย ในการสร้างถนนทุกสายในประเทศ ก็จะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศได้ทันที แม้ต้นทุนจะสูงกว่าถนนยางมะตอยทั่วไปก็ตาม แต่มีความแข็งแรง ทนทานกว่าถึง 2 เท่า ในขณะที่ต้นทุนแพงกว่า 5% เท่านั้น ซึ่งขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด ได้ลงนามความร่วมมือที่จะใช้ยางพาราผสมยางมะตอยราดถนนเป็นการนำร่องแล้ว หากหน่วยงานอื่นๆ ดำเนินการเช่นนี้ด้วยจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ และจะช่วยกระตุ้นให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย