ม.หอการค้าไทย เผยผลวิจัยชี้ พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบฯ มีข้อบกพร่องหลายประการ จำกัดสิทธิ์เกินควรเสี่ยงผลกระทบเชิงพาณิชย์และเสรีภาพในการประกอบการ แนะกฤษฎีกา-สนช.ทบทวนแก้ไขก่อนบานปลายกลายเป็นกฏหมายที่ขัดมาตรฐานสากล

พุธ ๐๑ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ๑๖:๓๔
รศ. สุธรรม อยู่ในธรรม หัวหน้าโครงการวิจัย สถาบันวิชาการนโยบายกิจการสาธารณะกับธุรกิจและการกำกับดูแล (APaR) และคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลการวิจัยในหัวข้อ "โครงการศึกษาประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ" โดยผลการวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของร่าง พ.ร.บ.ฯ ในข้อกฎหมายหลายประการ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงพาณิชย์ และสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะกฎหมายที่คุ้มครองเอกชนในการประกอบกิจการ โดยทางสถาบันฯ เสนอกฤษฎีกา-สนช.ควรทบทวนแก้ไขร่างกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาให้ถูกจุดและสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองสุขภาพประชาชนกับเสรีภาพของผู้ประกอบการให้ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

จากผลการวิจัยที่เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา มีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติทบทวนหลายมาตราที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของผู้ที่ถูกกระทบ โดยคำนึงถึง 'หลักความได้สัดส่วน' ตามกฏหมายปกครองและกฏหมายรัฐธรรมนูญเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความเป็นไปได้จริงในการบังคับใช้ รวมไปถึงการพิจารณาถ้อยคำที่ใช้ในร่างกฎหมายซึ่งยังขาดความชัดเจนตามองค์ประกอบความผิดในทางอาญา และการเลือกใช้คำที่มีความหมายคลุมเครือและกว้างจนเกินไป ทั้งยังมีประเด็นในเรื่องของการให้อำนาจรัฐมนตรีในการประกาศมาตรการต่างๆ ในหลายมาตราเพิ่มเติมได้ภายหลังโดยไม่ได้มีการกำหนดกรอบในการออกกฎหมายลูกอย่างชัดเจนเพียงพอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการกระทบสิทธิและเสรีภาพ และสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบอย่างเกินความจำเป็นได้ในอนาคต

รศ. สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า "ผลการวิจัยและวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.ฯ แสดงให้เห็นว่า เนื้อหามีความย้อนแย้งและขัดต่อหลักนิติธรรม โดยเฉพาะในประเด็นด้านสิทธิเสรีภาพ ตามหลักกฎหมายปกครอง และไม่ต้องด้วยหลักความได้สัดส่วน โดยร่าง พ.ร.บ.ฯ จำกัดสิทธิและเสรีภาพอย่างเกินความจำเป็นและละเมิดสิทธิเสรีภาพหลายประการ อาทิ มาตรา37 ความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการซองเรียบ (Plain Packaging) ซึ่งเป็นมาตรการที่เกินความจำเป็นและจำกัดสิทธิของผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอย่างเกินสมควรและกระทบทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี เช่น TRIPS Agreement ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดสัดส่วนภาพและคำเตือนบรรจุภัณฑ์ของบุหรี่ถึงร้อยละ 85 ของพื้นที่ด้านหน้าและด้านหลัง และร้อยละ 60 ของพื้นที่ด้านข้างจึงทำให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบสามารถใช้พื้นที่แสดงตราสินค้าอย่างจำกัดเพื่อบ่งบอกที่มาของสินค้าและข้อมูลผู้ผลิตเท่านั้น ไม่ได้เป็นการส่งผลเพื่อการจูงใจหรือดึงดูดให้เกิดการบริโภค"

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวยังขัดต่อหลักการตามกรอบอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (FCTC) ซึ่งควรจะต้องเป็นไปตามหลักการของกฎหมายภายในประเทศภาคีสมาชิก ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ การร่างกฎหมายจึงต้องคำนึงถึงรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับใหม่นี้ได้บัญญัติมาตรการที่เข้มงวดเกินกว่าที่กรอบอนุสัญญาฯ ได้วางไว้และนำเอาแนวทางปฏิบัติซึ่งไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายมาร่างเป็นกฎหมาย ซึ่งกระทบสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจนเกินสมควร อาทิ การจำกัดการติดต่อกับส่วนราชการในมาตรา 40 ยิ่งไปกว่านั้นร่างกฎหมายนี้ยังมีการใช้ถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ เช่น "การสื่อสารการตลาด" และ "ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ" ซึ่งอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา

"การร่างกฎหมายควบคุมยาสูบที่ดีจึงควรพิจารณาตามกรอบอนุสัญญาฯ เท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันเยาวชนในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ ลดปริมาณการบริโภคยาสูบ และคุ้มครองสุขภาพและอนามัยของผู้บริโภค อีกทั้งยังต้องสร้างความสมดุลระหว่างมาตรการทางกฎหมายและจำกัดเสรีภาพของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอย่างสุจริต ซึ่งสมควรได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายเช่นกัน จึงจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ได้อย่างแท้จริง"อาจารย์ ปวินี ไพรทอง นักวิจัย กล่าวเสริม

จากผลการวิจัยชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้มีความย้อนแย้งในตนเองและขัดต่อข้อกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่สอดคล้องกับหลักการร่างกฎหมายที่ดี ที่สำคัญละเมิดและจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบการ ส่งผลกระทบในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นแนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติน่าจะกระทำต่อไปได้คือพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าวอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยคำถึงผลกระทบในทุกมิติ เพื่อให้พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นไปอย่างยุติธรรมและมีความสอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมตามหลักการบริหารบ้านเมืองที่ดี (Good Governance) รวมทั้งสอดคล้องกับการนำนโยบายที่ประชาคมโลกยอมรับมาเป็นแนวทางในการร่างกฎหมายอย่างสมดุลและเป็นธรรม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. ARDA จับมือ ฟาร์ม เอ็กซ์โป และพันธมิตร เปิดศึก AGRITHON by ARDA Season 2 เฟ้นหาสุดยอดไอเดียปลุกพลังนวัตกรรมเกษตรไทย ชิงทุนวิจัยรวมกว่า 100
๑๘ เม.ย. กรุงศรี ฉลอง 80 ปี ดูหนัง 80 บาท ที่ Major Cineplex เมื่อชำระด้วยบัตรกรุงศรี เดบิตและบัตร Krungsri Boarding
๑๘ เม.ย. แบรนด์ซุปไก่สกัด รณรงค์ขับขี่ปลอดภัยในโครงการ สมองล้าอย่าขับ พักดื่มแบรนด์ จับมือ ตำรวจทางหลวง และ ตำรวจจราจร
๑๘ เม.ย. ซัมซุงจัดใหญ่! เป็นเจ้าของ ตู้เย็น Side by Side รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมรับสิทธิพิเศษแบบจุใจ ได้แล้ววันนี้
๑๘ เม.ย. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดกนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนเมษายนนี้
๑๘ เม.ย. EXIM BANK ร่วมกับกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs รับมือนโยบายภาษีแบบตอบโต้ของสหรัฐฯ
๑๘ เม.ย. ปักหมุด! เตรียมจัดงาน PET Expo Thailand 2025 จัดยิ่งใหญ่ครบรอบ 25 ปี
๑๘ เม.ย. ลดคลายร้อน ช้อปแลคตาซอย 1,000 ลด 100 พร้อมชวนร่วมสนุกถ่ายภาพคู่แลคตาซอย ลุ้น 10 รางวัล
๑๘ เม.ย. DITP ประชุมผู้จัดแสดงสินค้า เตรียมความพร้อมสู่เวที THAIFEX - ANUGA ASIA 2025
๑๘ เม.ย. โรงแรมเครือดุสิตธานี เปิดตัวโปรพิเศษต้อนรับซัมเมอร์ 'A Night on Us' เติมเต็มวันพักผ่อนอย่างมีความสุขกับโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตธานีทั่วโลก