MPI เดือนพฤษภาคม 2558 หดตัวร้อยละ 7.6 ตามการส่งออกที่ลดลง

พุธ ๐๑ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ๑๗:๑๒
สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2558 หดตัวร้อยละ 7.6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น HDD รถยนต์ โทรทัศน์ เบียร์ และเครื่องประดับ ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ไม่รวมทองคำแท่งหดตัวร้อยละ 5.0 ส่วนการนำเข้าสินค้าทุน หดตัวร้อยละ 8.0 และ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ(ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 10.6

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2558 ว่า หดตัวร้อยละ 7.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอาทิ ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ (HDD) รถยนต์ โทรทัศน์ เบียร์และเครื่องประดับ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่ง หดตัวร้อยละ 5.0 ตามการลดลงของการส่งออกสินค้าสำคัญ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงมูลค่าส่งออกสินค้าที่มีราคาเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบ อาทิ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ที่ยังปรับตัวลดลง ขณะที่การส่งออกรถยนต์ ที่เคยขยายตัวดีกลับมาติดลบในเดือนนี้ การนำเข้าสินค้าทุนหดตัวร้อยละ 8.0 ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ (ไม่รวมทองคำ) หดตัวร้อยละ 10.6 ตามทิศทาการผลิตเพื่อการส่งออกที่ลดลง

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตรถยนต์มีจำนวน 135,045 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.76 การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศมีจำนวน 56,942 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.28 ทั้งนี้ การลดลงเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ หนี้ในภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และสำหรับการส่งออกมีจำนวน 88,937 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.17

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับเดือนพฤษภาคม 2558ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.92 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 19.95 เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง สำหรับ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.01 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของอุปกรณ์สื่อสาร/อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น

ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต คอมเพรสเซอร์ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลงร้อยละ 0.74 8.09 12.67 26.37 และ 85.64 ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย รวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว (ยุโรป และญี่ปุ่น) สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน (คอนเดนซิ่งยูนิต) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีปริมาณ 1.27 ล้านตัน ลดลง ร้อยละ 23.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.62 ล้านตันลดลงร้อยละ 10.29 การส่งออกมีมูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 31.03 สำหรับการนำเข้า 565 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 20.42 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่

ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลงทุกตัว เช่น (1) เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศจากอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ยังคงทรงตัวอยู่ นอกจากนี้เป็นผลมาจากการนำเข้าเหล็กจากประเทศอิหร่าน, บราซิลและตุรกีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่ไทยไม่ได้ใช้มาตรการ AD (2) เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมผลไม้กระป๋องมีการผลิตที่ลดลงเนื่องจากภัยแล้งทำให้ไม่มีวัตถุดิบในการผลิต (3) เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋อง เช่น ทูน่ากระป๋อง มีการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก (4) เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีลดลง เนื่องจากมีผู้ผลิตเหล็กรายหนึ่งได้หยุดการผลิตเพื่อปรับสายการผลิตใหม่ และ (5) เหล็กแผ่นรีดเย็นลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ลดการผลิตลง

สำหรับเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่ลดลง เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ชะลอตัว โดยจากข้อมูลเครื่องชี้ภาวะอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น จำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อปล่อยใหม่จากธนาคารพาณิชย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมียอดการได้รับอนุมัติสินเชื่อที่ลดลง

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตในกลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอ และผ้าผืนลดลงร้อยละ 3.92 และ 4.75 ตามลำดับ สอดคล้องกับการจำหน่ายที่ลดลงทั้งการจำหน่ายในประเทศและส่งออก เนื่องจากความต้องการบริโภคเส้นใยสังเคราะห์ของตลาดลดลง ในส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืนผู้ผลิตมีสต็อกค่อนข้างมาก ประกอบกับผู้ใช้ในประเทศบางรายนำเข้าผ้าจากต่างประเทศ เนื่องจากผ้าที่มีอยู่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ แต่สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.61 ตามความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.67 โดยเฉพาะเสื้อผ้านักเรียนที่จะเริ่มภาคการศึกษาใหม่และเสื้อผ้ากีฬาต่าง ๆ

การส่งออกเดือนพฤษภาคม ปี 2558 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 3.96 ในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอตามการลดลงของตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนามและอินเดีย ส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืนมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 18.50 ในตลาดอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม บังคลาเทศ จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 7.87 จากคำสั่งซื้อในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปลดลง เนื่องจากถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.6 เนื่องจากการผลิตน้ำตาล และกลุ่มผักผลไม้ที่ปรับตัวลดลง สำหรับการส่งออกในภาพรวมลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.8 จากผลกระทบจากความไม่แน่นอนของผลสรุปการแก้ไขวิกฤติการณ์ยูเครน-รัสเซีย-สหภาพยุโรป และวิกฤติการเงินของกรีซ ทำให้การส่งออกขยายตัวได้น้อย ส่วนการใช้จ่ายในประเทศยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ