ขณะเดียวกัน เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องจัดการสภาพแวดล้อมในโรงเรือนให้มีการระบายอากาศที่ดี กรณีเลี้ยงสุกรในโรงเรือนปิดแบบอีแวป ควรสำรวจหลังคาและผ้าม่านด้านข้างให้อยู่ในสภาพดี และปรับอุณหภูมิให้เหมาะสมกับสุกรในแต่ละช่วงอายุ ส่วนการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนเปิด ในช่วงที่อากาศร้อนจัดควรติดพัดลมระบายอากาศเพิ่มเติม หรือเพิ่มน้ำหยดให้กับแม่สุกร หรือติดตั้งสเปรย์น้ำในโรงเรือนเป็นช่วงๆ เพื่อช่วยบรรเทาความร้อน แต่ไม่ควรเปิดตลอดเวลาเพราะจะทำให้อากาศชื้นจนเป็นสาเหตุให้สุกรป่วยได้ อาจทำการขังน้ำในรางอาหาร เพี่อให้สุกรดื่มอย่างเพียงพอ รวมถึงเพิ่มวิตามินละลายน้ำให้สุกรกิน และเพิ่มอาหารที่มีโภชนะสูงสำหรับสัตว์ป่วย
นอกจากนี้ ต้องตรวจเช็คสุขภาพสัตว์อย่างเข้มงวด และให้ความสำคัญกับการให้วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคที่เหมาะสมตามที่สัตวแพทย์แนะนำ ซึ่งจะทำให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรงและมีภูมิคุมกันโรคที่ดี รวมทั้งเฝ้าระวังโรคในสุกรที่มักพบบ่อยในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น โรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) ซึ่งเป็นโรคหรือกลุ่มอาการในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในหมู และเป็นเฉพาะในหมูเท่านั้นไม่ติดสู่คน (zoonosis)
ทั้งนี้เกษตรกรต้องมีการจัดการหมูสาวก่อนเข้าฝูง ด้วยการแยกเลี้ยงหมูสาวประมาณ 1-2 เดือน และต้องนำแม่หมูแก่หรือหมูจากฝูงเดิมมาคลุกเลี้ยงด้วย ในอัตราส่วนหมูเดิม 1 ตัว ต่อหมูสาว 10 ตัว เพื่อให้เชื้อไวรัส PRRS ที่ซ่อนอยู่ในหมูเดิม มากระตุ้นภูมิคุ้มกันของหมูสาวให้รู้จักต่อสู้กับเชื้อโรคที่ไม่เคยเจอมาก่อน เท่ากับเป็นการให้วัคซีนแบบธรรมชาติกับหมูสาวก่อนนำเข้ารวมฝูงเดิม และแนะนำให้ทำวัคซีนป้องกันโรค PRRS เชื้อเป็นแก่หมูสาวก่อนนำเข้าฝูงในฟาร์ม เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันโรคด้วย
"หากพบว่าสุกรเกิดเจ็บป่วยมากผิดปกติ ควรแจ้งสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มหรือปศุสัตว์ในพื้นที่เข้าตรวจสอบทันที" นายสุรชัย กล่าว