ชี้ 1 ทศวรรษ FTA ไทยยังไปได้มากกว่านี้ สศอ. ย้ำต้องขับเคลื่อนสู่ Trading Nation

พฤหัส ๐๒ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ๑๐:๕๘
สศอ. สรุปผลสำเร็จ FTA รอบ 10 ปี เพิ่มขึ้นแต่ยังไม่น่าพอใจ หันให้ความสนใจระดับภูมิภาคมากกว่า ทวิภาคี เผยไทยยังใช้สิทธิประโยชน์ FTA ไม่เต็มที่ ทั้งภาคส่งออกและนำเข้า ย้ำต้องผลักดันให้ไปสู่ความเป็น Trading Nation ให้ได้ เตือนให้เฝ้าจับตา FTA สหรัฐ และ EU ทวิภาคีใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสที่การจัดทำ FTA หรือข้อตกลงการค้าเสรีของไทยที่ทำกับประเทศต่างๆ ครบรอบ 10 ปีในปีนี้ หากมองย้อนถึงความสำเร็จของการจัดทำ FTA จนถึงปัจจุบันแล้วจะพบว่า FTA ในกรอบทวิภาคี และภูมิภาค ทั้งฝั่งส่งออกและนำเข้ามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่สูงมากนัก โดยมีแนวโน้มว่า ประเทศต่างๆ ได้หันไปให้ความสำคัญในการเจรจาและจัดทำ FTA ในระดับภูมิภาคจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความ ตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือ TPP และความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ RCEP

ดังนั้น เมื่ออัตราภาษีศุลกากรภายใต้ FTA ที่สำคัญต่างๆ ยังคงมีอยู่ ประกอบกับสินค้าบางกลุ่มของไทยที่ส่งออกไปยุโรปได้ถูกตัดสิทธิ GSP ในปี 2558 เช่น เครื่องหนัง สิ่งทอ เครื่องจักรกล และเครื่องนุ่งห่ม จะส่งผลให้ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว ต้องเสียเปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศอื่น ที่ยังได้รับสิทธิ GSP ในการส่งสินค้าไป EU ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา เมียนมาร์ และลาว เป็นต้น ข้อสำคัญคือสหรัฐและ EU ได้เริ่มต้นการเจรจาความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุน หรือที่เรียกว่า FTA ระหว่าง สหรัฐ – EU ขึ้นแล้ว ซึ่งหากการเจรจาประสบผลสำเร็จก็จะเป็นความตกลงการค้าทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และแน่นอนว่าจะต้องมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในระบบการค้าเสรีทั่วโลก

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2548-2558) จะพบว่าไทยยังใช้สิทธิประโยชน์ FTA ไม่เต็มที่ ทั้งภาคส่งออกและนำเข้า ไทยกำลังสูญเสียแต้มต่อต่อภาษีศุลกากรในตลาดยุโรป และมีโอกาสไม่ได้แต้มต่อภาษีกับการส่งออกไปยังตลาดใหญ่ๆ อื่นในกรอบ TPP ในขณะที่อนาคตของ FTA ฉบับใหม่ของไทยไม่ชัดเจน ประเทศเพื่อนบ้านกลับมีแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในหลายอุตสาหกรรม ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อการเป็น Trading Nation โดยบทบาทของภาคอุตสาหกรรมในการสนับสนุน คือการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมให้อยู่ในตำแหน่งที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High Value Added) ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และมีความสามารถในการบริหารได้อย่างดีอีกด้วย

อัตราการใช้สิทธิประโยชน์ FTA ของภาคส่งออกไทย นับแต่ปี 2548-2558 ในภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 51.7 โดยอุตสาหกรรมที่ประหยัดภาษีได้มากที่สุดคือ ยานยนต์ (42,463 ล้านบาท) อาหาร (21,538 ล้านบาท) พลาสติก (13,419 ล้านบาท) เครื่องจักรกล (9,716 ล้านบาท) เคมีภัณฑ์ (7,474 ล้านบาท) ยาง (6,629 ล้านบาท) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (5,624 ล้านบาท) ทั้งนี้ ในส่วนของอาเซียน การส่งออกไปยัง เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว ยังมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำซึ่งยังมีโอกาสการส่งออกขยายได้อีกมาก

ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวด้วยว่า การเตรียมความพร้อมในการเจรจาและจัดทำ FTA ในระดับภูมิภาคของไทย ถือว่าเป็นทางเลือกประการสำคัญ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งนอกจากความตกลง RCEP ที่ไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจากับอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย แล้ว ความตกลง TPP ถือเป็นความตกลงในระดับภูมิภาคอีกฉบับหนึ่ง ที่น่าสนใจซึ่ง TPP สามารถใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการไทย เพื่อทดแทนการถูกตัดสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ ได้ในอนาคต

ปัจจุบันความตกลง TPP มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมการเจรจา 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ชิลี เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น ในจำนวนนี้ไทยได้มีการจัดทำ FTA แล้วกับ 8 ประเทศ ยกเว้น สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก และมีประเทศสมาชิก ASEAN จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม ที่เข้าร่วมการเจรจา TPP ซึ่งคณะกรรมาธิการการเงินของวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการฝ่ายจัดหารายได้ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้อนุมัติร่างกฎหมายการค้าแบบ fast-track แล้ว อย่างไรก็ดี TPP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูงและเข้มข้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยควรมีการจัดทำการศึกษาเพื่อพิจารณาถึงผลดี ผลเสีย รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศในด้านต่าง ๆ ในภาพรวมอย่างรอบคอบถึงข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบ รวมถึงมาตรการป้องกันและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนที่จะเข้าร่วมการเจรจา โดย สศอ.จะเร่งดำเนินการศึกษาผลกระทบถึงภาคอุตสาหกรรมของไทยอย่างใกล้ชิด ตลอดจนจะเสนอแนวทางที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในอนาคต

นอกจากนี้ พบว่ายังมีสินค้าอุตสาหกรรมอีกหลายชนิดที่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ได้อีกหากผู้ประกอบการมีการใช้สิทธิประโยชน์เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่

1. ข้าวขัดสี ที่ส่งออกไปจีน

2. ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของรถแทรกเตอร์ และยานยนต์ที่ใช้สำหรับขนส่งผู้โดยสาร ที่ส่งออกไปมาเลเซีย

3. น้ำมันเบาและสิ่งปรุงแต่ง ที่ส่งออกไปลาว

4. กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพดิจิทัล และกล้องถ่ายบันทึกวิดีโอ ที่ส่งออกไปจีน

5. ยางคอมพาวด์ ที่ส่งออกไปจีน เป็นต้น

สำหรับอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ FTA ของภาคนำเข้าไทย ในภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 53.4 โดยอุตสาหกรรมที่ประหยัดภาษีได้มากที่สุดคือ อาหาร (13,528 ล้านบาท) ยานยนต์ (12,576 ล้านบาท) เหล็ก (6,013 ล้านบาท) เครื่องใช้ไฟฟ้า (5,263 ล้านบาท) เครื่องจักรกล (5,252 ล้านบาท) เคมีภัณฑ์ (5,073 ล้านบาท) และสิ่งทอ (3,960 ล้านบาท) ทั้งนี้ ในส่วนของอาเซียน การนำเข้าจาก บรูไน และ เมียนมาร์ ยังมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ในระดับไม่มากนัก นอกจากนี้พบว่ายังมีสินค้าอุตสาหกรรมอีกหลายชนิดที่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ได้อีก หากผู้ประกอบการมีการใช้สิทธิประโยชน์เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่

1. ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของรถแทรกเตอร์ และยานยนต์ที่ใช้สำหรับขนส่งผู้โดยสาร ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น

2. ยานยนต์ที่ใช้สำหรับขนส่งผู้โดยสาร ที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย

3. ผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยเหล็กและเหล็กกล้า ที่นำเข้าจากจีน

4. แม่พิมพ์สำหรับดึงหรืออัดรีดโลหะ ที่นำเข้าจากญี่ปุ่น

5. น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันที่ได้จากแร่บิทูมินัส ที่นำเข้าจากสิงคโปร์ เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ