นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า คณะผู้บริหาร 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายไทย เตรียมเดินทางไปประเทศอินโดนีเซียในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ศกนี้ เพื่อสานต่อความร่วมมือพันธมิตรน้ำตาลอาเซียนระหว่างไทยและอินโดนีเซีย โดยจะเข้าร่วมหารือพูดคุยประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยและอินโดนีเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อคิดเห็นเรื่องการพัฒนาด้านอ้อย น้ำตาลทราย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกัน เพื่อรองรับการเปิดตลาด AEC ในต้นปี 2559
อินโดนีเซียถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายไทย โดยมีการนำเข้าจากไทยสูงถึงปีละ 1.7-1.8 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำตาลทรายดิบเพื่อนำไปรีไฟน์เป็นน้ำตาลทรายขาวสำหรับบริโภคภายในประเทศ และในอนาคตคาดว่า หลังจากที่มีการเปิดตลาดสินค้าน้ำตาลภายใต้ AEC แล้ว การค้าน้ำตาลทรายระหว่างทั้งสองประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้น
"อินโดนีเซียถือเป็นพันธมิตรการค้าที่สำคัญ และเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง และโดยที่อินโดนีเซียยังผลิตน้ำตาลไม่เพียงพอกับการบริโภค จึงจำเป็นต้องนำเข้าประมาณปีละ 3-4 ล้านตัน ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศคู่ค้า เราจึงเห็นโอกาสในการร่วมมือกันทางการค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอินโดนีเซีย และการร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาคอาเซียน"นายสิริวุทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยยังได้เตรียมพร้อมยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมรองรับการเปิดตลาด AEC โดยผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทุกแห่งต่างมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต หลังจากที่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประสิทธิภาพโรงงานน้ำตาลจากประเทศออสเตรเลีย มาอบรมให้ความรู้แก่ฝ่ายโรงงาน หวังลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต และพัฒนาคุณภาพน้ำตาลทราย เพื่อตอบสมองความต้องการของลูกค้า
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมีเป้าหมายที่จะลดการสูญเสียในระบบการผลิต ให้เหลือประมาณ 4-5% จากเดิมที่มีประมาณเกินกว่า 10% อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือชาวไร่อ้อยในการนำผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพจัดส่งเข้าหีบในโรงงาน อีกทั้งโรงงานก็ต้องพัฒนาประสิทธิภาพ และเพิ่มผลิตน้ำตาล ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมกันดำเนินการอย่างจริงจัง จะช่วยให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานสามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลทรายได้มากขึ้น จะส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมทั้งระบบมีความเข้มแข็งมากขึ้นอีกด้วย