ทั้งนี้ พื้นที่เป้าหมายภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและภาคเหนือตอนล่างที่กรมทรัพยากร น้ำบาดาลเข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือ รวม 15 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี ราชบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ในหลายพื้นที่ที่มีการเจาะบ่อน้ำบาดาลและได้นำน้ำบาดาลไปใช้ในแปลงนาข้าวที่เหี่ยวเฉาขาดน้ำ ก็สามารถพลิกฟื้นกลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการพัฒนาแหล่ง น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยมอบหมายให้นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคณะทำงาน โดยมีรองอธิบดีกรมทรัพยากร น้ำบาดาล ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขตที่ได้รับมอบหมาย เป็นคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจติดตามการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่นาปรัง ที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ภาคกลาง ให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เป็นไปตามหลักวิชาการและสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2558 พร้อมสั่งการ ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการปฏิบัติการภัยแล้งที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อความสะดวกในการประสานงานและติดตามผลอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีแผนจะจัดตั้งศูนย์อำนวยการปฏิบัติการภัยแล้งที่จังหวัดสุพรรณบุรีและกำแพงเพชรต่อไป